ไม่ใส่ใจเรื่องการกิน เสี่ยง “มะเร็งกระเพาะอาหาร”

0

ช่วงนี้หลายคนเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ใหม่จากมนุษย์ออฟฟิศหันมา Work From Home แทน งานนี้แม้จะดีในแง่ที่ว่าไม่ต้องเดินทางในที่สาธารณะให้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 แต่หากจัดสรรเวลาไม่ดีอาจทำให้สุขภาพพังจากการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลาหรือพักผ่อนไม่เพียงพอได้ และเมื่อสุขภาพย่ำแย่ก็อาจนำไปสู่โรคต่าง ๆ หนึ่งในนั้น คือ “มะเร็งกระเพาะอาหาร”

46

 

“มะเร็งกระเพาะอาหาร” เป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 5 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดทั่วโลกสำหรับประเทศไทย จากสถิติโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าเพศชายป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากเป็นอันดับ 10 ของผู้ป่วยมะเร็งชายทั้งประเทศ ส่วนเพศหญิงแม้จะไม่ติด 10 อันดับแรก  แต่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมากเช่นกันหากมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง และมักพบมากในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป

 

แม้ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่ก็พบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori การสูบบุหรี่เป็นประจำ การดื่มสุราเป็นประจำ ผู้ที่มีอาการอักเสบหรือเป็นแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง ผู้ที่เคยผ่าตัดกระเพาะอาหาร ผู้ที่สัมผัสฝุ่น สารเคมี และสารก่อมะเร็งเป็นเวลานาน การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักอนามัย การรับประทานอาหารหมักดอง อาหารแปรรูป อาหารปิ้งย่าง

 

ข้อมูลจากนายแพทย์วีรวุฒิ  อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า มะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการแสดงออกชัดเจน และอาจมีอาการคล้ายโรคอื่น ๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ อาการท้องอืดจุกแน่นท้องหลังรับประทานอาหาร กลืนอาหารลำบาก เบื่ออาหาร คลื่นไส้  อาเจียน เป็นต้น ในผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามอาจมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำคล้ำ หรืออาจมีเลือดปนในอุจจาระ น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น

 

การวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารสามารถทำได้ด้วยหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นผารตรวจห้องปฏิบัติการ (เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดหรือประเมินภาวะซีด การตรวจเลือดในอุจจาระ การตัดชิ้นเนื้อบนผิวกระเพาะเพื่อตรวจพิสูจน์), การเอกซเรย์กลืนแป้ง การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น การส่องกล้องด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง การตรวจความเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี นอกจากนี้ยังมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อประเมินการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่น ๆ อีกด้วย

 

การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารเป็นการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของทีมแพทย์ในสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง ทั้งนี้ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาของแพทย์ ได้แก่ ขนาดของก้อนมะเร็ง ตำแหน่งและลักษณะของเซลล์มะเร็ง ตลอดจนระยะและการกระจายของโรคมะเร็งรวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยด้วย

 

อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง รวมทั้งเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารหากมีอาการปวดท้องเรื้อรัง จะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *