“โรคกระจกตาโก่ง”
เป็นสภาวะที่มีความผิดปกติของกระจกตา มีลักษณะบางลง บริเวณตรงกลางหรือค่อนมาข้างล่างเล็กน้อย ทำให้กระจกตาตรงกลางยื่นมาข้างหน้าเป็นรูปกรวย ย้วย หรือเบี้ยว เป็นอีกหนึ่งโรคทางดวงตาที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจจะทำให้กระจกตาพิการ และสูญเสียการมองเห็นถาวรได้
โรคนี้มักจะเริ่มมีอาการในวัยรุ่นอายุ 13 – 14 ปี และมีการดำเนินของโรคไปเรื่อย ๆ 10 – 20 ปี พบในหญิงมากกว่าชายกว่าเท่าตัว!
มักจะเป็นที่ตาทั้ง 2 ข้าง สำหรับอาการของโรคคือมีสายตามัวลง ๆ ร่วมกับเห็นภาพบิดเบี้ยว บางรายมีอาการเคืองตา แสบตา สู้แสงไม่ได้ มีสายตาสั้นและเอียงค่อนข้างมาก ต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย ๆ เพราะมีค่าสายตาเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ แต่ไม่สามารถสังเกตได้ง่ายด้วยตาเปล่า ยกเว้นบางกรณีมีการกดทับจนทำให้ขอบตาล่างเปลี่ยนเป็นรูปตัววีอย่างชัดเจน ฉะนั้น หากสงสัยว่ามีภาวะดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์
ปกติแล้วภายในลูกตาจะมีความดันลูกตาอยู่ ซึ่งหากกระจกตาบางหรือเส้นใยคอลลาเจนอ่อนแอ ความดันในลูกตาก็จะดันให้กระจกตาโก่งขึ้นในลักษณะบิดเบี้ยว เกิดการหักเหของแสงมากเกินไป กระทบกับการมองเห็นทั้งสายตาสั้น สายตาเอียงแบบผิดธรรมชาติมาก หากเป็นมากแล้วไม่ได้รับการรักษาจะทำให้กระจกตาแตกได้ ทำให้น้ำในลูกตาซึมเข้าไปทำให้เกิดเป็นฝ้าขาว ขุ่น อักเสบบวม เกิดแผลเป็น มีปัญหาเรื่องการมองเห็น หากปล่อยทิ้งไว้อาจจะทำให้กระจกตาพิการ และสูญเสียการมองเห็นถาวรได้ สำหรับอาการกระจกตาแตกนั้น วิธีการรักษามีทางเดียวคือต้องเปลี่ยนกระจกตา
แม้ปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุที่ทำให้เส้นใยคอลลาเจนอ่อนแอได้ แต่คาดว่ามีความสัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้ เพราะคนที่เป็นโรคภูมิแพ้มักมีการขยี้ดวงตาอย่างแรงโดยใช้ข้อนิ้ว ซึ่งน่าจะเป็นตัวกระตุ้นทำให้เส้นใยคอลลาเจนอ่อนแอลง ดังนั้นเพื่อเป็นการถนอมดวงตาและป้องกันความเสี่ยงของภาวะกระจกตาโก่ง จึงไม่ควรขยี้ดวงตาแรงๆ
นอกจากนี้ภาวะกระจกตาโก่งมักพบร่วมกับผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม กลุ่มโรคระบบเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน รวมถึงมีความสัมพันธ์กับเรื่องกรรมพันธุ์ด้วย