แม้จะเข้าช่วงฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว แต่สายฝนก็ยังมาเยี่ยมเยียนตามพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยเป็นระยะๆ สภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นเหตุให้มีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสต่างๆ โดยเฉพาะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นโรคที่เสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนได้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษา
“โรคไข้หวัดใหญ่” (Influenza)
โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบนชนิดเฉียบพลัน มีความรุนแรงและก่อให้เกิดความทรมานมากกว่าไข้หวัดธรรมดา บางรายมีอาการแทรกซ้อนทำให้เกิดอาการปอดบวม หลอดลมอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ในรายที่รุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้
โรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ชนิด เอ บี และซี การแพร่กระจายและติดต่อของเชื้อไวรัสพบมากในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ซึ่งสามารถติดกันได้จากการไอรดกัน การหายใจเอาฝอยละอองเข้าไป
บางรายได้รับเชื้อทางสิ่งของที่ใช้ปนกัน เช่น แก้วน้ำ ลูกบิด ประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา และปาก ในผู้ใหญ่อาจแพร่เชื้อได้นาน 3-5 วัน นับจากเริ่มป่วย ในเด็กสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่าผู้ใหญ่ คือ 7-10 วัน และอาจนานขึ้นไปอีกในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง
อาการที่เข้าข่ายว่าคุณอาจป่วยด้วยโรค”ไข้หวัดใหญ่”
- อาการของผู้ป่วยมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขน ต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ
- ในเด็กอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคัดจมูก จาม เจ็บคอ
หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง จะสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการจะทุเลาและหายป่วยได้ภายใน 5-7 วัน แต่ในบางรายที่ปอดอักเสบรุนแรง จะพบว่าผู้ป่วยหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ทั้งนี้
หากอาการไม่ดีขึ้นมีไข้สูงเกิน 2 วัน หรือหอบเหนื่อย ควรรีบพบแพทย์ ผู้ป่วยควรหยุดงานอยู่บ้าน จนกว่าอาการจะทุเลา เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น