“พังผืดที่จอตา” พบได้แม้ในคนที่ไม่เคยมีโรคตามาก่อน

0

พังผืดที่จอตา (Epiretinal Membrane)

เป็นภาวะที่มีพังผืดชนิดที่ปราศจากหลอดเลือดเกิดขึ้นบนชั้นผิวของจอตา พังผืดนี้อาจมีการขยายตัวดึงรั้งจอตาใกล้ เคียงโดยเฉพาะบริเวณจอตาส่วนกลางหรือจุดภาพชัด (Macula) จึงทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลงไม่ปกติหรือการมองเห็นผิดปกติไป

Epiretinal Membrane

ลักษณะของพังผืดเป็นแผ่นค่อนข้างใสหรือขุ่นมัวเล็กน้อย อยู่บนผิวจอตาโดยเฉพาะบริเวณใกล้ๆ Macula มักจะพบภาวะนี้ร่วมกับมีการหลุดลอกของน้ำวุ้นตาส่วนหลัง (Posterior vitreous detachment) น้ำวุ้นที่หลุดจากผิวจอตาทำให้เกิดเป็นช่องว่าง ก่อให้เกิดการสร้างเซลล์ที่เป็นพังผืดยื่นมาจากผิวจอตาจึงเกิดเป็นพังผืดขึ้น เซลล์ที่เกิดขึ้นใหม่นี้มีลักษณะยืดหยุ่นได้ ถ้าเกิดมีการหดตัวจะทำให้ผิวจอตาบริเวณใกล้เคียงไม่เรียบ เกิดเป็นรอยย่นหรือเป็นจีบขึ้น เป็นเหตุให้การมองเห็นภาพผิดเพี้ยนไป

ผู้ที่มีพังผืดที่จอตา จะมองเห็นภาพไม่ชัด โดยเฉพาะตรงกลางภาพ และบางครั้งอาจจะมองเห็นภาพบิดเบี้ยว รูปร่างของภาพที่มองเห็นผิดไปจากปกติ บางครั้งก็จะมองเห็นแสงแฟลชในตาเกิดขึ้น และบางครั้งจะมีเลือดออกที่ผิวของจอตาตลอด ส่งผลให้เลือดออกเข้ามาในน้ำวุ้นตา

พังผืดที่จอตาอาจพบได้แม้ในคนปกติทั่วไปที่ไม่เคยมีโรคตามาก่อน หรืออาจเกิดตามหลังบางภาวะเช่น ในผู้ป่วยที่มีจอตาฉีกขาด จอตาหลุดลอก มีโรคหลอดเลือดจอตาอักเสบ เช่น จากโรคเอสแอลอี ได้รับอุบัติเหตุบริเวณดวงตาทั้งมีแผลและไม่มีแผล ตลอดจนมีการอักเสบของน้ำวุ้นตาและจอตามาก่อน เป็นต้น ซึ่งภาวะโรคตาต่างๆนี้ก่อให้เกิดการอักเสบจึงทำให้มีเซลล์การอักเสบเจริญเติบโตจนก่อให้เกิดเป็นพังผืดขึ้น โดยมักจะพบภาวะนี้ในคนอายุ 50 ปี ขึ้นไป

การป้องกันไม่ให้เกิดพังผืดที่จอตาทำได้โดยการดูแลสุขภาพจิตและสุขภาพกายให้แข็งแรง รักษาสุขภาพอนามัย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  กินอาหารมีประโยชน์ครบหมวดหมู่ในปริมาณที่เหมาะสม  รักษาน้ำหนักตัวอย่าให้เกินพอดี งดการสูบบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *