ร้อนนนนนน อากาศช่วงนี้มันช่างสาหัสสากรรจ์ซะเหลือเกิน สมกับที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้วนอกจากอากาศร้อนจะสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตแล้ว แสงแดดในฤดูร้อนยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคผิวหนังต่างๆ หนึ่งในนั้น คือ “โรคเชื้อราแคนดิดา”
ประเทศไทยเป็นเมืองร้อนชื้น จึงพบโรคจากเชื้อราได้มาก เชื้อราหลายชนิดพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ สัตว์เลี้ยง รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้รอบตัวเรา หรือแม้กระทั่งบนผิวหนังของเราเองก็มีเชื้อราอาศัยอยู่ เมื่อเกิดสภาวะบางอย่างจะส่งผลให้มีการติดเชื้อขึ้นได้
“แคนดิดา”
เป็นเชื้อราในกลุ่มยีสต์ที่พบอยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกายมนุษย์ เช่น ในช่องปาก ในทางเดินอาหาร ในช่องคลอด โดยเชื้อราแคนดิดาสามารถก่อโรคได้หากมีสภาวะที่เหมาะสมให้เชื้อเติบโตแบ่งจำนวนมากขึ้นซึ่งปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การเกิดแผลถลอก ความอับชื้น โรคเบาหวาน การได้รับยาปฏิชีวนะบางชนิด การขาดธาตุเหล็ก การได้รับยาคุมกำเนิด การฉายแสง และภูมิคุ้มกันผิดปกติ
ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดโรคได้ง่าย ได้แก่ เด็กทารกผู้สูงอายุ สตรีที่ตั้งครรภ์ผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำผู้ที่มีน้ำหนักมาก ผู้ที่ชอบใส่เนื้อผ้ารัดแน่นอับชื้นผู้ที่สัมผัสน้ำบ่อยๆ หรือสัมผัสน้ำเป็นเวลานาน
“โรคเชื้อราแคนดิดา” สามารถแสดงอาการได้ในหลายตำแหน่งของร่างกายได้แก่…
- ผิวหนัง มีตุ่มหรือผื่นแดง คัน ลามออกเป็นวงเล็กๆ บริเวณที่พบผื่นได้บ่อยคือ ใต้ราวนม รักแร้ ขาหนีบ ซอกก้น ซอกคอ บางครั้งพบรูขุมขนอักเสบและตุ่มหนองร่วมด้วย
- ซอกนิ้ว หรือผิวหนังรอบเล็บคัน มีผื่น เนื้อเยื่อรอบๆ เล็บบวมแดงตึง ทำให้จมูกเล็บไม่ติดกับแผ่นเล็บ
- ช่องปาก มีฝ้าขาวที่ลิ้นเพดานปาก กระพุ้งแก้ม และเหงือกสามารถขูดออกได้ง่ายโดยไม้กดลิ้น ในผู้ที่ใส่ฟันปลอมอาจพบผื่นแดงอักเสบบริเวณที่สัมผัสกับฟันปลอมหรือแผลแดงแตกแผลเปื่อยบริเวณมุมปาก
- ช่องคลอดมีอาการตกขาวร่วมกับอาการคันหรือแสบที่บริเวณช่องคลอด
- อวัยวะเพศชายมีผื่นสีขาวหรือตุ่มหนองที่ปลายของอวัยวะเพศ อาจพบเป็นแผลร่วมด้วยได้
ดังนั้น ในฤดูร้อน ควรทำความสะอาดผิวหนังให้สะอาดไม่อับชื้น โดยเฉพาะในร่มผ้าเนื่องจากเป็นบริเวณที่กักเก็บความอบ อับชื้น ทำให้เกิดการเจริญเติบโตมากขึ้นเพื่อป้องกัน “โรคเชื้อราแคนดิดา”