กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหารที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน ได้แก่ โรคท้องเดิน โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ ซึ่งสาเหตุเกิดจากรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน การรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรือใช้น้ำที่ไม่สะอาดมาประกอบอาหาร รวมถึงการรับประทานอาหารที่ปรุงไว้นานข้ามมื้อ หรือเกิน 6 ชั่วโมง ที่อาจจะบูดเสียได้ง่ายๆ
“โรคท้องเดิน”
อาการถ่ายอุจจาระบ่อยๆ เกินวันละ 3 ครั้ง และอุจจาระเหลวเป็นน้ำ ผิดไปจากที่เคย
“โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน”
อาการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ และอาจอาเจียนหรือเป็นไข้ร่วมด้วย
“โรคบิด”
อาการท้องเสียโดยอุจจาระแต่ละครั้งจะออกไม่มาก มีมูกเลือดปนมาในอุจจาระ ร่วมกับอาการปวดเบ่งที่ทวารหนัก ถ่ายไม่สุด
“ไทฟอยด์”
โรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ติดต่อกันได้ง่ายผ่านทางอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ
และการใกล้ชิดผู้ที่มีเชื้อโรค
“อาหารเป็นพิษ”
อาการป่วยที่เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือน้ำที่มีการปนเปื้อน
“ตับอักเสบ”
ภาวะทางการแพทย์ที่มีการอักเสบของตับและเกิดการทำลายของเซลล์ตับ ทำให้การทำหน้าที่ต่างๆ ของตับผิดปกติ
วิธีป้องกันตัวจากโรคติดต่อทางน้ำและอาหารที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน
- ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ไม่ควรทานอาหารค้างคืน หรือปรุงเสร็จมานานหลายชั่วโมงแล้ว เพราะอาหารอาจบูดเน่า
- ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำที่ต้มแล้ว หรือน้ำบรรจุขวดที่มี อย.รับรองคุณภาพ
- ควรเลือกซื้อน้ำแข็งที่สะอาด มี อย.รับรองคุณภาพไม่ควรรับประทานน้ำแข็งที่ใช้สำหรับแช่อาหารอื่น
- ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ควรล้างมือให้สะอาดเป็นนิสัย
- ถ่ายอุจจาระลงในส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังถ่ายอุจจาระเสร็จ หากเป็นช่วงน้ำท่วม ไม่สามารถเข้าส้วมได้ ควรถ่ายอุจจาระลงในถุงพลาสติก แล้วใส่ปูนขาวจำนวนพอสมควรลงไปในถุง มัดปิดปากถุงให้แน่น แล้วใส่ถุงดำซ้อนอีกชั้นหนึ่งก่อนนำไปทิ้ง ไม่ควรถ่ายอุจจาระลงน้ำเด็ดขาด เพราะจะยิ่งเป็นการแพร่เชื้อโรค
รู้แล้วอย่าลืมระวังกันด้วยนะคะ 🙂