สองสามเดือนมานี้หลายคนคงจะได้ยินเรื่องลิ่มเลือดอุดตันในปอดกันมาบ่อย ๆ ยิ่งในช่วงที่โรคโควิด-19 ยังระบาดเช่นในปัจจุบัน มีการโยงอาการลิ่มเลือดอุดตันในปอดว่าเป็นผลจากการฉีดวัคซีน นำไปสู่ความสงสัยถึงความปลอดภัยของวัคซีน เพื่อป้องกันความสับสน เรามาเจาะลึกถึงสาเหตุของภาวะนี้กัน
ผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาแก่กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ภาวะการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด เกิดจากการที่มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นในหลอดเลือดดำ และหลุดไปอุดที่หลอดเลือดที่ปอด เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบเหนื่อยอย่างเฉียบพลัน และทำให้มีอัตราป่วยตายสูงได้ถึงร้อยละ 30 ผู้ป่วยที่เกิดโรคนี้
จากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขที่เก็บข้อมูลผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในปอด ระหว่างปี 2559 – 2563 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคดังกล่าวประมาณปีละ 12,900 – 26,800 ราย คิดเป็นอัตราการป่วยประมาณ 200 – 400 รายต่อประชากรหนึ่งล้านคน โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ คือ พันธุกรรม ภาวะโรคมะเร็ง การไม่เคลื่อนที่เป็นเวลานาน ๆ การกินยาคุมกำเนิด หรือการได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมน เป็นต้น
ผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในปอดส่วนมากไม่มีอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบแพทย์ด้วยอาการเหนื่อย ซึ่งระดับความเหนื่อยของแต่ละรายจะแตกต่างกันออกไปตามความรุนแรงของอาการหรือปริมาณลิ่มเลือดที่อุดตันว่ามากหรือน้อยแค่ไหน และมักมีอาการเหนื่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือเหนื่อยในช่วงที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ แต่เหนื่อยมากกว่าปกติ เช่น เดินขึ้นบันไดในบ้าน บางรายอาจมีอาการบวมที่ขาร่วมด้วย ซึ่งเกิดจากลิ่มเลือดอุดตันบริเวณหลอดเลือดขา
สำหรับพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ การสูบบุหรี่ ซึ่งมีผลต่อหลอดเลือดโดยตรง อาจทำให้หลอดเลือดบาดเจ็บ เสี่ยงต่อลิ่มเลือดอุดตัน รวมถึงการไม่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน ฉะนั้น วิธีป้องกันโรคที่สำคัญคือลดปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น หากนอนนานให้พยายามเคลื่อนไหวให้มากขึ้น หากหลอดเลือดมีความหนืดควรดื่มน้ำมาก ๆ เป็นต้น
ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างลิ่มเลือดอุดตันในปอดกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 นั้น ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2564 พบว่า มีรายงานพบผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดภายหลังการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ทั่วโลกทั้งสิ้น 4,575 ราย จากการฉีดกว่า 1,800ล้านคน คิดเป็นอัตราการเกิดโรคนี้เพียง 2.5 รายต่อประชากรล้านคนที่ได้รับวัคซีน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ต่ำกว่าอัตราการเกิดในผู้ไม่ได้รับวัคซีนอย่างมาก
สำหรับวัคซีนของบริษัท Sinovac นั้น มีรายงานพบ 7 ราย จากการฉีดไปมากกว่า 200 ล้านโดส และไม่พบสัญญาณที่บ่งว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดสูงขึ้น หรือวัคซีนเป็นสาเหตุโดยตรง นอกจากนี้จากข้อมูลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีนของบริษัท Sinovac มากกว่า 2 ล้านโดสในคนไทย ไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในปอดภายหลังการได้รับวัคซีนดังกล่าว
ทั้งนี้ หากมีอาการผิดปกติที่ไม่แน่ใจว่าจะมีภาวะนี้หรือไม่ เช่น อาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด ปวดบวมขา หรืออาการอื่น ๆ ที่รุนแรง ให้ปรึกษาแพทย์โดยเร็ว