ถูกสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นของว่างเพื่อสุขภาพจากเหล่าผู้ผลิต จนทำให้หลายคนเชื่อว่า “ปลาเส้นปรุงรส” เป็นของท่านเล่นที่ so good และดีต่อสุขภาพ โดยชูจุดขายว่ามีไขมันต่ำ โปรตีนสูง ทานแล้วไม่อ้วน
คำถามที่ตามมาก็คือ “ปลาเส้นปรุงรส” เป็นขนมขบเคี้ยวที่ดีต่อสุขภาพจริงหรือ???
ปลาเส้นทำมาจากผลิตภัณฑ์ที่เรียก “ซูริมิ” ซึ่งก็คือ “เนื้อปลาทะเลบด” ที่ผ่านกระบวนการล้างน้ำ เพื่อแยกไขมันและส่วนประกอบที่ไม่ต้องการอื่นๆ ออกไป ให้เหลือแต่ “โปรตีน” ที่เรียกว่า “ไมโครไฟบริล” ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำให้เนื้อปลามีคุณสมบัติในการสร้างเจล
แม้เนื้อปลาจะเป็นอาหารที่มีประโยชน์แต่อันตรายที่แฝงมากับปลาเส้นปรุงรสที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือ ปริมาณโซเดียมในปลาเส้นปรุงรสนั้นมีปริมาณสูงมากๆ ในทุกยี่ห้อ โดยปลาเส้น 30 กรัมจะมีโซเดียมประมาณ 500-700 มิลลิกรัม โดยเฉพาะรสเข้มข้นจะมีโซเดียมสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะมีการปรุงแต่งรสด้วยผงชูรส หรือโมโนโซเดียมกลูตาเมตมากขึ้น
หากเรากินอาหารรสเค็มจัดที่ได้จากเกลือโซเดียม มากกว่า 6 กรัมต่อวัน หรือมากกว่า 1 ช้อนชาขึ้นไป เป็นประจำ ก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองแตก โรคหัวใจ และ ไตวาย รวมทั้ง โรคกระดูกพรุน
ขณะเดียวกันคนที่เริ่มเป็นโรคต่างๆ ข้างต้นนั้น ก็ต้อง ระมัดระวังอาหารที่มีโซเดียมสูง อย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และอาจเป็น อันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ที่น่ากลัวก็คือ มีการตรวจพบว่าปลาเส้นปรุงรสที่ใส่ถุงวางขายโดยไม่มีอย. หลายยี่ห้อ มีส่วนผสมปลาปักเป้า ซึ่งมีสารพิษเตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย อาทิ ริมฝีปากและลิ้นจะเริ่มรู้สึกเหมือนมีเข็มแทงเบาๆ ยิบๆ ถี่ๆ มีอาการชา ชาที่หน้าและมือ น้ำลายออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียพร้อมด้วยปวดท้อง
หากอาการทรุดหนักก็จะเป็นอัมพาตได้ เลือกซื้อปลาเส้นปรุงรสที่มีฉลากชัดเจน มีเครื่องหมาย อย. แสดงวันผลิต หรือวันหมดอายุ มีข้อมูลทางโภชนาการ และที่สำคัญควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ