“ไปก็ไปด้วยกัน ไปคนเดียวไม่เอาอ่ะ ขอทำตัวติดกับเธอขอฉันไปด้วยคน” ออกสเต็ปเพลงตามสไตล์เฮีย จั่วหัวข้อกันซะให้เพื่อนอยากรู้ขนาดนี้ ดังนั้นเฮียจึงไม่ขอเกริ่นเยอะแล้วกันนะ เราไปดูกันดีกว่าว่า “เวลาที่อยู่บนเครื่องเล่นหวาดเสียว” เจ้าความหวาดเสียวเนี่ย… มันสร้างอะไรๆ ให้เกิดกับร่างกายเราบ้าง ลุย!!
เมื่อก้าวขึ้นไปนั่งประจำที่
- สมองประมวลผลเมื่อเห็นวิวจากหน้าผาสูงขณะกำลังจะโดดบันจี้ หรือวิวบนโรลเลอรืโคสเตอร์สุดหวาดเสียว ผลคือศูนย์ควบคุมอารมณ์ในสมองอมิกดาล่าจะปรับโหมดเตือนและบอกคุณว่า “เฮ้ๆ มันไม่ใช่ความคิดที่ดีเลยนะ”
- ในเวลาเดียวกันร่างกายเริ่มเข้าสู่โหมดจะสู้หรือถอยดี (Fight or flight Mode ) และเตรียวตัวหลั่งอะดรีนาลีนออกมา
- อะดรีนาลีนกระตุ้นอวัยวะต่างๆให้ตื่นตัว ปอดถูกกระตุ้นจนถึงขีดสุด หัวใจสูบฉีดเลือดเร็วขึ้นเพื่อส่งออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อทุกส่วน ต่อมเหงื่อเปิดเพื่อระบายความร้อน
- น้ำตาลในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้น เพื่อเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย
- ระหว่างปฏิกิริยาเหล่านี้ สมองส่วนหน้าจะทำหน้าที่ประมวลเหตุผล บอกคุณว่า เฮ้ มันไม่ได้อันตรายซะหน่อย มันอาจจะสนุกก็ได้นะ
เมื่อเครื่องเล่นกำลังพาคุณดิ่งพสุธา
คุณจะรู้สึกถึงแรงโน้มถ่วงที่กำลังดึงตัวคุณให้หล่นจากอากาศอย่างน่าหวาดเสียว
- เกิดอาการอ้าปากค้าง ตาเบิกกว้างและรูจมูกขยาย ถาหากว่าเพื่อนแอบถ่ายรูปไว้ล่ะก็ คงจะขำไม่หยุดเลยทีเดียว
- รู้สึกหวาดเสียว หน้ามืด เพราะเลือดและออกซิเจนไหลจากสมองไปทั่วร่างกาย
- ระดับโดปามีน(สารที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจในสมอง) ตกฮวบระหว่างดิ่งพสุธา คุณจะรู้สึกหวาดกลัวปวดตับมากกว่าฟิน แต่สมองจะหลั่งเอ็นโดฟิน ขณะเดียวกันคุณจะรู้สึกดี ยิ่งคนที่ชอบความเสี่ยง การผจญภัยยิ่งแฮปปี้สุดๆ
เมื่อเท้าเหยียบพื้นหลังครบรอบ
- คุณคือผู้รอดชีวิต! โดปามีนท่วมสมองคุณจะรู้สึกวิงเวียน ในขณะเดียวกันก็รู้สึกฟินสุดๆเมื่อโดปามีนลดลง สมองต้องการสารชนิดนี้อีก นั่นคือสาเหตุว่าทำไมคนถึงชอบเล่นไวกิ้งและโรลเลอร์โคสเตอร์ตีลังกา 8 ตลบ
- การศึกษาจะพบว่าผู้หญิงจะรู้สึกว่าผู้ชายดูน่าสนใจขึ้นหลังจากเล่นเครื่องเล่นหวาดเสียว เป็นไปได้ว่าร่างกายตีความอาการตื่นเต้นนี้ว่าเป็นการกระตุ้นทางเพศ