ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่เฮียเคยเจอมาเหมือนกันนะครับ กับเรื่องราวของเพื่อนสมัยมัธยม (นานมากเลยทีเดียว) เพื่อนของเฮียคนนี้มีนิสัยชอบขโมยของเล็กน้อย ทั้งที่พื้นฐานครอบครัวโดยรวมแล้วฐานะก็ถือว่าเข้าขั้นดีกันเลยทีเดียว แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยเหมือนกันว่า… เพราะอะไร ทั้งๆ ที่มีความสามารถมากพอที่จะซื้อสิ่งของเหล่านั้นได้ แต่เขากลับเลือกที่จะขโมย?
แบบนี้อาจเข้าข่ายโรคขี้ขโมยแล้ว โรคนี้มีอยู่ด้วยหรือ? เฮียมีคำตอบมาฝากกันครับ
โรคขี้ขโมย
หรืออาจเรียกแบบเต็มๆ ว่า โรคขี้ขโมยชอบหยิบฉวยของคนอื่น (Kleptomania) อาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติของสมองที่พบสารเซโรโทนินต่ำลง (จนบางทีอาจเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า) เกิดจากพันธุกรรม หรือการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมในวัยเด็กก็ได้ จึงทำให้ติดนิสัยขี้ขโมยอยู่บ่อยๆ นั่นเอง
เกิดจากความผิดปกติของสมอง แล้วเข้าข่ายโรคทางจิตเวชหรือไม่?
โรคนี้ ไม่ถือว่าเป็นอาการทางจิต แต่จัดอยู่ในโรคที่เกิดจาดความผิดปกติของสมอง ที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ ทำให้เกิดความอยากได้และหยิบเอาของคนอื่นมาโดยไม่ได้ขอ
อาการของโรคขี้ขโมย
ส่วนใหญ่ผู้ป่วย มีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่มีปัญหาด้านการเงิน แต่จะมีปัญหาเกี่ยวกับจิตใจต้องการจะปลดปล่อยอะไรบางอย่าง แล้วแสดงออกผ่านการขโมยของ และเมื่อทำได้จะรู้สึกดีขึ้น ซึ่งผู้ป่วยมักจะรู้สึกผิดเมื่อขโมยของเสร็จแล้ว การขโมยจะเกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน ไม่มีการวางแผนมาก่อน เห็นแล้วรู้สึกอยากขโมยขึ้นมาทันที
วิธีการรักษา เมื่อรู้ตัวว่าเป็น
ผู้ป่วยโรคนี้ สามารถรักษาได้ทั้งจากการใช้ยาบำบัด โดยเพิ่มเซโรโทนีนในสมองเพื่อลดความเสี่ยงของผู้ป่วยจากภาวะซึมเศร้า ร่วมกับวิธีจิตบำบัด อาจจะเป็นการเพิ่มความรู้สึกผิดชอบชั่วดีให้กับผู้ป่วยมากขึ้น หรืออาจจะเป็นการชวนผู้ป่วยคุยถึงผลร้ายที่อาจจะตามมาภายหลังจากการขโมย ก็ได้
เมื่อรู้แบบนี้แล้วหากพบเจอการขโมยของคนอื่น อาจไม่ได้แปลว่าเขาตั้งใจขโมยเสมอไป เพราะคนเหล่านั้นอาจเป็นโรคขี้ขโมย ที่เป็นความผิดปกติทางจิตในรูปแบบหนึ่งก็ได้ เขาอาจเป็นคนที่ชอบต่อต้านสังคม หรืออยากเรียกร้องความสนใจ ทางที่ดีหากพบใครมีพฤติกรรมดังกล่าว ควรส่งพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป