ทริคดูแลเบบี๋ในท้องให้แข็งแรง ฉบับคุณแม่ผู้มีลูกยาก

0

“ลูก” ถือเป็นของขวัญล้ำค่าที่ช่วยเติมเต็มชีวิตคู่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ใช่ว่าถ้าอยากมีลูกก็สามารถมีได้ทันที เพราะมีคู่สามีภรรยาจำนวนไม่น้อยที่ประสบกับภาวะมีบุตรยาก ใช้เวลายาวนานกว่าจะตั้งครรภ์ และเมื่อตั้งครรภ์แล้วก็ต้องดูแลตัวเองให้ดีเพื่อให้เบบี๋ในท้องอยู่รอดปลอดภัยจนออกมาลืมตาดูโลกได้

116

 

ทริคดูแลเบบี๋ในท้องให้แข็งแรง ฉบับคุณแม่ผู้มีลูกยาก

 

  1. ควรรีบพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์แบบพิเศษและตรวจสุขภาพครรภ์อย่างละเอียด
  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เน้นเนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว ผัก ผลไม้ รวมถึงดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยควบคุมอาหารและควบคุมน้ำหนักให้พอดี ทั้งนี้ควรรับประทานวิตามินโฟเลตวันละ 400 ไมโครกรัมต่อวัน เนื่องจากเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นกับทารกเพื่อใช้ในการสร้างอวัยวะต่าง ๆ และสร้างเซลล์สมอง
  3. งดดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะแอลกอฮอล์จะผ่านไปยังลูกทางสายสะดือ และทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด ส่วนคาเฟอีนสามารถซึมผ่านรกไปสู่ลูกน้อยได้ อาจกระตุ้นให้ทารกตื่นตัว ซึ่งส่งผลต่อการนอนหลับหรือการเคลื่อนไหวร่างกายในครรภ์ได้
  4. งดการสูบบุหรี่เนื่องจากจะทำให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ทารกพิการ หรือเด็กจะเสียชีวิต
  5. ดูแลสุขภาพช่องปากให้ปราศจากปัญหาโดยไปพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมีการศึกษาจากหลายแห่งพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีปัญหาสุขภาพเหงือกมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดหรือลูกที่คลอดออกมาตัวเล็กเกินไป
  6. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทั้งก่อนและหลังการตั้งครรภ์ สำหรับการออกกำลังกายสามารถทำได้ เช่น การว่ายน้ำ การเดินเล่นช้า ๆ หรือโยคะ
  7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 8 – 14 ชั่วโมง
  8. ทำใจให้สบายผ่อนคลายอารมณ์ลดความตึงเครียดลง โดยอาจทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การฟังเพลง การนั่งสมาธิ และการอ่านหนังสือ เป็นต้น
  9. ในช่วง 3 เดือนแรก และก่อนคลอด 1 เดือน ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ หากห้ามใจไม่อยู่ควรใช้ท่วงท่าการร่วมเพศที่อ่อนโยน โดยไม่ควรให้มีแรงกระแทกบริเวณท้องมากเกินไป และควรใช้ถุงยางอนามัย เพราะขณะร่วมรักอาจมีโอกาสติดเชื้อในช่องคลอด ซึ่งบางชนิดสามารถส่งตรงถึงลูกและตัวคุณแม่ได้
  10. ดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายเป็นประจำ ระวังการใช้สารเคมี เช่น น้ำยาย้อมผม การใช้เครื่องสำอาง และน้ำหอม เพราะสารเคมีบางอย่างอาจมีผลกับเบบี๋ในท้องได้
  11. หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูง เพื่อป้องกันการลื่นล้ม ควรสวมรองเท้าสำหรับหญิงมีครรภ์หรือรองเท้าเพื่อสุขภาพ
  12. เมื่ออายุครรภ์เริ่มมาก ไม่ควรโดยสารเครื่องบินระยะทางไกล เพราะความกดดันของอากาศในเครื่องบินมักไม่คงที่ จะส่งผลถึงระบบไหลเวียนโลหิตของคุณแม่และลูกในครรภ์ได้

 

การดูแลครรภ์สำหรับคุณแม่ที่เคยมีบุตรยาก ต้องดูแลมากเป็นพิเศษตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนคลอด เพราะเสี่ยงต่อการสูญเสียเบบี๋ได้ทุกเมื่อ ฉะนั้น หากพบปัญหาควรรีบไปพบสูตินารีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *