รับมือให้อยู่หมัดกับ 7 เทคนิคเลี้ยงเด็ก “สมาธิสั้น”

0

ในประเทศไทย พบว่า 3-5% ของเด็กในวัยเรียนอายุ 5-12 ปี เป็นโรคสมาธิสั้น โดยอาการที่แสดงออก คือ ไม่มีสมาธิ วอกแวกง่าย อยู่ไม่นิ่ง ซน ควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ยาก สร้างความกลัดกลุ้มให้แก่พ่อ แม่ ผู้ปกครองเป็นอย่างยิ่ง แต่อย่าเพิ่งเครียดค่ะ เพราะโรคสมาธิสั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้

ดร.วีรวัฒน์ แสนศรี ประธานสาขากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ 7 เทคนิคการจัดการเด็กสมาธิสั้นอย่างสร้างสรรค์ สรุปความได้ดังนี้

7-techniques-for-raising-children-adhd

เทคนิคที่ 1 ลดสิ่งเร้า

เพราะสิ่งเร้า เช่น ในสิ่งแวดล้อมที่เสียงดัง สีสันที่ฉูดฉาด เป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้สมาธิของลูกน้อยลง ควรจัดบ้านให้เรียบง่าย เก็บของในตู้ทึบแทนตู้กระจก ไม่ซื้อของเล่นให้มากเกินไป จำกัดเวลาดูทีวี เล่นเกม เล่นคอมฯ หรือทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมกัน เช่น กินข้าวไปดูทีวีไปด้วย

เทคนิคที่ 2 เฝ้ากระตุ้น

ผู้ปกครอง และ ครู ต้องร่วมกันอย่างใกล้ชิด คอยติดตามและตักเตือน เนื่องจากเด็กเล็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เช่น กระตุ้นเตือนเด็ก เมื่อถึงเวลาทำงาน เตือนเมื่อหมดเวลาเล่น โน้ตข้อความสำคัญในที่ที่เด็กเห็นได้ง่าย แนะเคล็ดวิธีช่วยจำให้ลูก เช่น การย่อ หัดขีดเส้นใต้ขณะเรียน เป็นต้น

เทคนิคที่ 3 หนุนจิตใจ

ชื่นชมเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี หรือทำอะไรสำเร็จ ควรเปิดโอกาสให้เด็กคิด ช่วยเด็กหาวิธีแก้ไขจุดอ่อน ไม่พูดคำว่า “อย่าทำ-อย่าไป-หยุดเดี๋ยวนี้” เพราะเด็กสมาธิสั้นมักทำสิ่งต่างๆ ไม่สำเร็จอยู่แล้ว เมื่อได้รับแต่คำตำหนิ เด็กจะหมดความมั่นใจ ไม่กล้าคิด จะรอฟังคำสั่งและทำตามที่สั่งเท่านั้น

เทคนิคที่ 4 ให้รางวัล

เด็กสมาธิสั้น มักจะเบื่อ และขาดความอดทน แต่หากมีรางวัล เด็กจะรู้สึกท้าทาย และมีแรงจูงใจมากขึ้น ควรเปลี่ยนรางวัลบ่อยๆ ให้เด็กสนุกและสนใจ ขั้นตอนการให้รางวัล คือ ระบุพฤติกรรมดีที่ต้องการให้เกิดขึ้นทดแทนพฤติกรรมที่เป็นปัญหา หลังจากฝึกได้ 1-2 สัปดาห์ เริ่มใช้การลงโทษแบบไม่รุนแรง เช่น ตัดสิทธิ์ อดรางวัล เมื่อเกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา โดยเน้นการให้รางวัลมากกว่าลงโทษ

เทคนิคที่ 5 ระวังพูดจา

ไม่พูดมากหรือบ่น ไม่เหน็บแนม ไม่ติเตียนกล่าวโทษ บอกกับเด็กสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ต้องการให้ทำอะไร หากเด็กไม่ทำตามคำสั่ง พ่อแม่ควรใช้วิธีเดินเข้าไปหา จับมือ แขน หรือ บ่า สบตาเด็ก พูดสั้นๆ จากนั้นให้เด็กพูดทวน หากเด็กไม่ทำก็พาไปทำด้วยกัน

เทคนิคที่ 6 หาสิ่งดี

พ่อแม่ควรเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า เด็กไม่ได้ตั้งใจทำตัวให้มีปัญหา แต่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง ทำให้ควบคุมตัวลำบาก คิดถึงความน่ารัก และความดีในตัวเด็กและตัวเรา

เทคนิคที่ 7 มีขอบเขต

โดยมีตารางเวลา หรือรายการที่ต้องทำ เพื่อให้เด็กรับรู้ขีดจำกัด ช่วยควบคุมให้เด็กทำตามง่ายขึ้น เช่น เวลาตื่น เวลานอน เวลาทำการบ้าน ใช้คอมพิวเตอร์ เล่นกีฬา ไม่ปล่อยปละละเลย หรือตามใจมากไป เพื่อไม่ให้เด็กสับสนและผัดผ่อนต่อรองบ่อยๆ เราต้องวางเงื่อนไขเด็ก ไม่ใช่ให้เด็กวางเงื่อนไข


การฝึกและให้ทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอต้องใช้เวลานานในการปรับพฤติกรรม แต่เมื่อทำจนเกิดเป็นนิสัยแล้ว พฤติกรรมที่ดีนั้นจะคงอยู่อย่างถาวรค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *