5 วิธีเปลี่ยนลูก “ขี้หงุดหงิด”ให้กลับมาร่าเริง

0

คุณพ่อคุณแม่หลายๆ บ้านคงกลุ้มใจอยู่ไม่น้อยหากมีลูกพฤติกรรมใจร้อน  ขี้หงุดหงิด  ไม่รู้จักรอ  และความอดทนต่ำ  บางคนถึงขั้นกรีดร้อง  งอแง  ชักดิ้นชักงอ  เลยเถิดไปถึงกลายเป็นเด็กก้าวร้าวเพราะแน่นอนว่าหากพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ถูกปรับเปลี่ยน  ย่อมก่อให้เกิดความเคยชินและส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน  ดังนั้นเรามาหาทางปรับแก้นิสัยขี้หงุดหงิดของลูกตั้งแต่วันนี้เลยดีกว่าค่ะ

1. อย่าหงุดหงิดตามลูก

edgykid (5)
เมื่อลูกแสดงอาการโกรธเกรี้ยว  พ่อแม่หลายคนก็พลอยบันดาลโทสะตามไปด้วย กลายเป็นสงครามย่อย ๆ ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่สาดใส่กัน ซึ่งโดยมากแล้ว ผู้ใหญ่ชนะ! แต่การจะหาคนชนะคนแพ้จากสถานการณ์ชวนโมโหนี้ดูจะเป็นสิ่งเกินความจำเป็นไปสักหน่อย คุณควรพยายามเข้าใจอารมณ์ของลูกในมุมมองของลูก  เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด  เช่น ลูกหงุดหงิดงงอแงเพราะอากาศร้อน  ทำให้เขาอึดอัด  ไม่สบายตัว  ลูกไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง  คุณก็ควรพาลูกออกจากสถานการณ์นั้นอย่างเข้าอกเข้าใจและทำให้ลูกอารมณ์เย็นลง

 

2. เปิดโอกาสให้ลูกได้บอกสิ่งที่ต้องการ

edgykid (3)

การสร้างบรรยากาศให้บ้านเป็นสถานที่ที่เด็กสามารถ “เปิดอก” พูดคุยถึงสิ่งที่อึดอัดได้อย่างสะดวกใจสามารถช่วยแก้ปัญหาลูกขี้หงุดหงิดนี้ได้เช่นกัน เพราะเด็กบางคนไม่สามารถระบายความอัดอั้นตันใจให้กับสมาชิกในบ้านฟังได้ ยิ่งหากพูดไปแล้วก็เจอแต่การต่อต้าน หรือไม่ก็มีแต่คนต่อว่า เขาก็จะเก็บความหงุดหงิดนั้นเอาไว้ และยิ่งทำให้เขากลายเป็นเด็กอารมณ์ร้าย (โดยเฉพาะเวลาอยู่บ้าน) มากขึ้น   อย่าคิดว่าเด็กอายุแค่ไม่กี่ขวบจะไม่มีเหตุผล  และรู้จักแสดงความรู้สึกและความต้องการได้อย่างผู้ใหญ่นะคะ  ดังนั้น หากคุณพร้อมจะรับฟัง ให้ลูกได้พูดบ้าง ก็จะช่วยให้เขาลดความกดดันในอารมณ์ลงได้ค่ะ

3. หยุดพฤติกรรมไม่ดีด้วยการเพิกเฉย

edgykid (4)

เมื่อลูกเริ่มร้องโยเย หรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ร้องกรี๊ด กระทืบเท้า สิ่งที่พ่อแม่ต้องระวังก็คือ ไม่ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมนั้น ๆ ของลูกจนเกินไป บางทีการทำเพิกเฉยอาจเป็นทางออกที่ดี นั่นจะทำให้เด็กเรียนรู้ว่า การแสดงพฤติกรรมแบบนี้ไม่ทำให้เขาได้ในสิ่งที่ต้องการ แต่ถ้าพ่อแม่ให้ความสำคัญกับการแสดงออกที่ไม่พึงประสงค์ของลูก หรือใช้พฤติกรรมเชิงลบ  เช่นการดุด่า  การตี  ตอบสนองด้วยพฤติกรรมรุนแรง  เชื่อได้เลยว่า มันจะเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

 

4. อย่าเพิ่มความเครียดให้สถานการณ์

edgykid (2)

เด็กที่โกรธง่าย ไม่พอใจบ่อย ๆ ความรู้สึกเหล่านี้มักจะทำให้เขากลายเป็นคนขึ้งเคียด คิดมาก นั่นยิ่งทำให้ปัญหาด้านอารมณ์ของเด็กแย่ลงไปอีก พ่อแม่อาจช่วยได้โดยการลดความเครียดที่อยู่รอบตัวลูกให้น้อยลง เช่น ลดความคาดหวังที่มีต่อลูกลง ไม่ระเบียบจัดจนเกินควร  ผ่อนปรนบ้างตามความเหมาะสม เมื่อลูกทำตัวไม่ดีหรือก่อเรื่องสร้างปัญหา  เมื่อจบเรื่องแล้วก็ควรทำตัวตามปกติ  ไม่ควรเคียดขึงใส่ลูกนานเกินไปจนบรรยากาศอึมครึ้ม

5. เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก

edgykid (1)

โดยทั่วไปแล้ว  พฤติกรรมของเด็กมักจะเกิดจากการเลียนแบบ   หากเปิดใจให้กว้างคุณพ่อคุณแม่จะเห็นว่า  พฤติกรรมบางอย่างของลูกก็คือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำเป็นประจำนั่นแหละค่ะ  หากคุณเป็นคนขี้หงุดหงิด  ตอบดต้ลูกด้วยคำพูดหรือวิธีการเชิงลบ  ลูกก็จะมีวิธีจัดการกับอารมณืโกรธของตัวเองในแบบเดียวกันเมื่อหงุดหงิด  อารมณ์เสีย  บางคนพูดกับลูกดี  แต่อาจทำพฤติกรรมไม่ดีให้ลูกเห็นเมื่ออยุ่กับผู้ใหญ่ด้วยกัน  แน่นอนว่าลูกมีคุณเป็นต้นแบบ  ดังนั้นคุณจึงพึงระวังตัวเองอย่างรัดกุมที่สุดค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *