4 โรคทางจิตเวช ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก

0

วัยเด็กคือวัยของการเรียนรู้ การเรียนรู้ในด้านต่างๆ อย่างสมวัยจะช่วยให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวช อาจส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้ไอคิวไม่ถูกพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ

ว่าแต่โรคทางจิตเวชที่ว่ามีอะไรบ้างนะ?

โรคทางจิตเวชที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก

4-psychiatric-diseases-that-affect-childrens-learning

1.ปัญหาสติปัญญาบกพร่อง

เป็นกลุ่มเด็กที่มีสติปัญญาต่ำกว่า 70 มักจะรู้ก่อน 6 ขวบ ซึ่งทำให้มีข้อจำกัดด้านสติปัญญา การเรียนรู้และการปรับตัวในการดำรงชีวิตประจำวัน

2.ออทิสติก

เป็นโรคที่มีความผิดปกติของสมองตั้งแต่กำเนิดที่ส่งผลต่อพัฒนาการทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ พัฒนาการด้านการสื่อสาร ด้านการเข้าสังคม และด้านการเล่น นอกจากนี้ โรคออทิสติกสามารถแสดงด้วยอาการอย่างอื่น เช่น ก้าวร้าว อยู่ไม่นิ่ง ขาดสมาธิ ร้องกรี๊ด โขกศีรษะตัวเอง เป็นต้น

3.สมาธิสั้น

อาการเด็กสมาธิสั้น คือ สมาธิไม่ดี จดจ่ออยู่กับอะไรไม่ได้นาน อยู่ไม่นิ่ง ซุกซนมาก หุนหันพลันแล่น รอคอยไม่เป็น ต่อคิวไม่ได้ ชอบแซงคิวคนอื่น ไม่อยู่ในวินัย ทำให้ครูรู้สึกว่าเกเร ไม่ตั้งใจเรียน ดื้อ

4.ความบกพร่องในการเรียนรู้หรือแอลดี

เด็กมีสติปัญญา ไอคิวปกติ แต่ความสามารถในการอ่านคำ เขียนสะกดคำ และการคำนวณอย่างใดอย่างหนึ่งหรือ 2-3 อย่าง ต่ำกว่าอายุสมองไป 2 ชั้นปี ตรงนี้เกิดจากวุฒิภาวะสมองไม่ลงตัว แต่บางคนที่ผ่านช่วงตรงนี้ไปได้ อาจจะกลายเป็นอัจฉริยะ เพราะไม่ได้มีปัญหาไอคิว

สำหรับเด็กที่สติปัญญาบกพร่อง และเด็กออทิสติก เป็นโรคที่ปรากฏให้เห็นได้เร็ว ดูออกเร็วตั้งแต่อายุน้อย และได้รับการช่วยเหลือตั้งแต่ต้นทาง แต่ก็ยังมีบางส่วนหลุดรอดการคัดกรองมาได้ เพราะเด็กบางคนอาการไม่เห็นชัด ส่วน 2 โรคหลังจะเห็นชัดในวัยเรียน คือ เด็กสมาธิสั้นกับแอลดี บางที 3-4 ขวบยังดูไม่ออก ยังวินิจฉัยไม่ได้ เด็กก็เข้าสู่ระบบการเรียนเหมือนเด็กปกติทั่วไป แต่พอไปเรียนหนังสือ ตัวโรคทำให้เด็กแปลกแยกจากเด็กอื่น ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กดื้อ เด็กซน เด็กไม่สนใจเรียน ไม่ได้เรื่อง

แบบนี้แล้วพ่อแม่ต้องหมั่นคอยสังเกตพฤติกรรมของลูกวัยซน โดยอาจให้คุณครูช่วยเป็นหูเป็นตาอีกแรง เพื่อรู้โรคเหล่านี้ได้เร็วที่สุด จะได้ง่ายต่อการรักษาและดูแลลูกรักต่อไปในอนาคต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *