ความมั่นคงทางอารมณ์ที่ดี ลดเสี่ยงก่ออาชญากรรมวัยเด็กได้

0

พื้นฐานสำคัญที่สุดในการเลี้ยงดูเด็กอยู่ที่ความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว ที่จะพัฒนาต่อไปเป็นความผูกพันระหว่างผู้เลี้ยงดูกับเด็ก และกลายเป็น “ความผูกพันทางอารมณ์” เด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่ดี จะมีอารมณ์แจ่มใส คิดบวก เชื่อฟังและร่วมมือกับกฎเกณฑ์ของผู้ใหญ่ และห่างไกลจากการก่ออาชญากรรม

Little girl with big sunglasses enjoys sun

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า…

เด็กแต่ละคนจะมีความผูกพันกับผู้เลี้ยงดูที่อยู่รอบตัวได้หลายคน เช่น เด็กที่อยู่ในครอบครัวขยายจะมีความผูกพันกับปู่ย่า ตายาย ลุงป้าน้าอา ที่อยู่ในบ้าน คอยดูแลหรือเล่นด้วย แต่เด็กจะมีความผูกพันที่แน่นแฟ้น เหนียวแน่น และลึกซึ้งจนกลายเป็น “ความผูกพันทางอารมณ์” ซึ่งเป็นความผูกพันแบบพิเศษกับผู้เลี้ยงดูคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ที่ “รู้ใจ” และ “เข้าใจ” นิสัยใจคอของเด็กเป็นอย่างดี เด็กจะรู้สึกสงบและปลอดภัยเมื่ออยู่ใกล้ เด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่ดี จะมีอารมณ์แจ่มใส กล้าคิด กล้าทำ มองโลกแง่ดี เชื่อฟังและร่วมมือกับกฎเกณฑ์ของผู้ใหญ่

จากวิจัยทางการแพทย์ พบว่า เด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่ดี มักมีระดับสติปัญญาที่สูงกว่า เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ใหม่ ๆ จะปรับตัวได้ง่ายกว่าเด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่ไม่มั่นคง

นอกจากนี้ ยังพบว่า ร้อยละ 52 ของเด็กที่ได้รับการดูแลในสถานสงเคราะห์และกว่าร้อยละ 30 ของเด็กที่พ่อแม่ติดสารเสพติด ล้วนมีปัญหาความผูกพันทางอารมณ์ไม่มั่นคง และเด็กเหล่านี้เสี่ยงก่ออาชญากรรมถึงร้อยละ 80

แนวทางสร้างความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงให้กับลูก

girl plays superhero

  1. กินอิ่มท้อง อบอุ่นใจ” ให้ลูกได้รับสารอาหารที่เพียงพอ รับประทานอาหารอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง หรือใช้อารมณ์กันในมื้ออาหาร
  2. กอดหอมให้ สัมผัสรัก” ลูบศีรษะ อุ้ม โอบกอด หอมแก้ม หอมหน้าผาก สบตา ดูแล เอาใจใส่ ตอบสนองความต้องการของลูกแต่ละช่วงวัยอย่างพอเหมาะและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก
  3. เล่นเสริมสายใยรัก” เล่นกับลูก ให้สอดคล้องกับความสนใจและพัฒนาการตามช่วงวัย
  4. ฟูมฟักเล่า เคล้านิทาน” บอกรักลูก สังเกตและสอบถามอารมณ์และความรู้สึกของลูก เล่าหรืออ่านนิทานร่วมกัน ที่สำคัญ ในช่วง 6 เดือนแรก ไม่ควรเปลี่ยนคนเลี้ยงบ่อย ควรมีคนเลี้ยงหลักเพียงคนเดียว

ทั้งนี้พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กควรระมัดระวังการใช้อารมณ์เกรี้ยวกราดและความก้าวร้าว โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ลูกทำผิด หรือไม่เชื่อฟัง ต้องรู้จักเลือกใช้วิธีลงโทษและการสร้างวินัยทางบวกเข้าทดแทน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *