รู้ไว้ก่อนคิดจะ “จัดฟัน”

0

ทุกวันนี้หลายคนอาจมองว่าการจัดฟันเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งจนมีคำเรียกว่า “จัดฟันแฟชั่น” แต่แท้จริงแล้ว การจัดฟันเป็นสาขาหนึ่งของการรักษาทางทันตกรรมที่แก้ไขการเรียงตัวของฟัน การสบฟันรวมไปถึงขนาดและตำแหน่งของขากรรไกรด้วย นอกจากการจัดฟันจะเป็นการแก้ไขความผิดปกติที่เกิดขึ้นแล้ว การจัดฟันยังเป็นการป้องกันความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตหากผู้ป่วยไม่ได้รับการแก้ไขแต่เนิ่นๆ อีกด้วย

โดยทั่วไปแล้วหากพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันอย่างสม่ำเสมอ ทันตแพทย์จะสามารถให้คำแนะนำได้ว่าควรจะต้องพบทันตแพทย์จัดฟันหรือไม่ ลักษณะความผิดปกติที่พบจะมีได้ในหลายๆ ระดับ บางอย่างต้องรีบแก้ไขตั้งแต่ยังเด็กๆ 5-6 ปี หรือ 8-9 ปี เพราะหากปล่อยไว้จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูกใบหน้า ทำให้รูปหน้าบิดเบี้ยวได้

ส่วนลักษณะบางอย่าง เช่น ฟันซ้อนเก ฟันบิด ฟันห่างในเด็ก อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเลย เนื่องจากเป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติขณะที่มีการเปลี่ยนของชุดฟันน้ำนมเป็นชุดฟันแท้ กรณีที่มีความผิดปกติของขนาดขากรรไกรเข้ามาเกี่ยวข้องอาจต้องรอจนหมดการเจริญเติบโตประมาณอายุ 18-20 ปี ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละคนแล้วจึงแก้ไขด้วยการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร

รู้ไว้ก่อนคิดจะ “จัดฟัน”  (2)

ปกติฟันน้ำนมซี่สุดท้ายจะหลุดเมื่ออายุประมาณ 12 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะจัดฟันหากไม่มีปัญหาของกระดูกขากรรไกรเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากฟันแท้ขึ้นครบแล้ว (ไม่รวม “ฟันคุด”) และเด็กวัยนี้มีทักษะการแปรงฟันที่ดีพอที่จะรักษาความสะอาดของช่องปากขณะที่มีเครื่องมือจัดฟันอยู่ในปากได้ หลายคนสงสัยว่า แล้วผู้ใหญ่จะจัดฟันได้ไหม อายุเท่าไหร่ถึงจะจัดไม่ได้ จริงๆ แล้วอายุมากแล้วก็สามารถจัดฟันได้ถ้ามีสุขภาพฟัน เหงือก และกระดูก รองรับฟันที่แข็งแรงพอ แต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนของฟันจะช้ากว่าในเด็กและมีโอกาสเกิดเหงือกร่นมากกว่าด้วย

ส่วนมากการจัดฟันใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ขึ้นกับความรุนแรงของปัญหาและความร่วมมือของผู้ป่วย เช่น การดูแลรักษาความสะอาดเครื่องมือจัดฟัน ไม่ทำเครื่องมือหลุด ใช้ยางอีลาสติก ตามคำแนะนำของทันตแพทย์จัดฟันและการมาตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

ฉะนั้นการจัดฟันไม่ใช่แฟชั่น แต่เป็นการรักษาเพื่อแก้ไขความผิดปกติ ดังนั้นในผู้ที่ฟันไม่มีปัญหาใดๆ ก็ไม่ควรจัดฟันเพราะ การมีเครื่องมือติดอยู่ที่ฟันทำให้แปรงฟันไม่สะดวก หากรักษาความสะอาดไม่ดี ฟันก็จะผุ เหงือกก็จะอักเสบ และทันทีที่ติดเครื่องมือที่ตัวฟัน ฟันจะมีการเปลี่ยนตำแหน่งไปทำให้การบดเคี้ยวจากเดิมที่ไม่มีปัญหา ก็เกิดมีปัญหาขึ้นมาได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *