ใครบ้างที่ควรตรวจ “ไต” ก่อนเป็นไตวายเรื้อรัง

0

“ไต” เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย มีหน้าที่ อาทิ ขจัดของเสีย รักษาสมดุลน้ำในร่างกาย รักษาสมดุล กรด ด่าง และเกลือแร่ เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นกับไตก็ย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกาย การตรวจคัดกรองโรคไต หากพบระยะแรกช่วยชะลอไตเสื่อม และโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายได้คำถามคือ ใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

“โรคไต”

อาจเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดไต หลอดเลือดฝอยในไต เนื้อเยื่อ ตลอดจนความผิดปกติของกรวยไตและท่อไต โดย นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการที่สำคัญ คือ บวม ปัสสาวะเป็นเลือด มีลักษณะคล้ายสีน้ำล้างเนื้อ หรือเป็นเลือดสด ปัสสาวะเป็นฟอง เนื่องจากมีไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่น เนื่องจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปวดหลัง

who-should-check-kidney-before-a-chronic-renal-failure

หากเป็นรุนแรงจะมีอาการปัสสาวะออกน้อย ซีด และอ่อนเพลีย เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้จากน้ำท่วมปอด เนื่องจากภาวะน้ำและเกลือแร่เกิน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ คันตามผิวหนัง เลือดออกง่ายหยุดยาก กล้ามเนื้อกระตุก ไม่มีแรง ในรายที่เป็นมากอาจซึม ชัก หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตได้ อาการเหล่านี้เกิดจากการคั่งของเสีย และการเสียสมดุลกรดด่างและเกลือแร่ในร่างกาย

ผู้มีความเสี่ยงสูงควรได้รับการคัดกรองโรคไตเรื้อรัง คือ ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคแพ้ภูมิตนเองที่อาจก่อให้เกิดไตผิดปกติ โรคติดเชื้อในระบบที่อาจก่อให้เกิดโรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเกาต์ หรือระดับกรดยูริกในเลือดสูง โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบนซ้ำหลายครั้ง ผู้ที่ได้รับยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs หรือสารพิษที่ทำลายไตเป็นประจำ

รวมถึงผู้ที่มีมวลเนื้อไตลดลงหรือมีไตข้างเดียว ทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิดหรือเป็นภายหลังมีประวัติโรคไตเรื้อรังในครอบครัว ตรวจพบนิ่วในไตหรือระบบทางเดินปัสสาวะ ตรวจพบถุงน้ำในไตมากกว่า 3 ตำแหน่งขึ้นไป ฉะนั้น ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงข้างต้น ควรได้รับการคัดกรองหากพบในระยะแรกๆ สามารถชะลอไตเสื่อม เพื่อไม่ให้พัฒนาไปสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย

ทั้งนี้ การรักษาโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย มี 3 วิธี คือ 1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 2. การฟอกเลือดทางช่องท้อง 3. การผ่าตัดปลูกถ่ายไต ส่วนจะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *