“กระดูกสันหลังเสื่อม” อายุยิ่งมาก ยิ่งต้องระวัง

0

กระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis)

โรคที่มักเกิดในผู้มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป โดยเกิดจากการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆที่รวมถึงกระดูกสันหลังด้วย กระดูกสันหลังเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อย เหมือนกับบรรดาข้อกระดูกเสื่อมทั้งหลาย เช่น ข้อเข่าเสื่อม ข้อสะโพกเสื่อม

Spondylosis (2)

กระดูกสันหลังมี 3 ระดับ

  • ระดับคอมีกระดูกสันหลัง 7 ชิ้น
  • ระดับกลางหลัง 12 ชิ้น
  • ระดับบั้นเอวมี 5 ชิ้น

กระดูกสันหลังแต่ละอันมาเรียงต่อกันเป็นปล้องๆ โดยด้านหน้ามีหมอนรองกระดูกกั้นอยู่ ส่วนด้านหลังเป็นข้อต่อเล็กๆ 2 ข้าง ทำให้ข้อกระดูกสันหลังมีการเคลื่อนไหวได้ เช่นการก้ม การเงย ของคอ การก้มหลังและแอ่นหลัง เป็นต้น

ทั้งนี้กระดูกสันหลังที่ผ่านการใช้งานมานาน จะส่งผลให้ กระดูก หมอนรองกระดูก เส้นเอ็นกระดูก และกล้ามเนื้อหลัง เสื่อมสภาพ นอกจากอายุที่มากขึ้นโรคนี้อาจเกิดจาก…

  • การเล่นกีฬา
  • อุบัติเหตุ
  • น้ำหนักตัวมากเกินไป
  • ภาวะที่มีกระดูกคดงอผิดรูปแต่กำเนิด
  • กระดูกสันหลังติดเชื้อ เช่น จากวัณโรค, เนื้องอกหรือโรคมะเร็ง

Spondylosis (1)

การเสื่อมของกระดูกสันหลังจะเริ่มเกิดขึ้นที่หมอนรองกระดูกซึ่งเป็นตัวกั้นระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละปล้อง หมอนรองกระดูกบางส่วนอาจจะมีการเคลื่อนที่ไปกดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดร้าวตามแขนหรือขาที่เส้นประสาทนั้นๆ ไปเลี้ยงก็ได้ ในกรณีที่หมอนรองกระดูกเสื่อมแต่ไม่ไปกดเส้นประสาท จะมีผลทำให้ข้อกระดูกสันหลังที่อยู่ด้านหลังมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการอักเสบหรือขรุขระหรืออาจมีกระดูกงอก ทำให้มีอาการเจ็บปวดขึ้นบริเวณหลังและปวดร้าวลงมาบริเวณกระเบนเหน็บ หรือสะโพกทั้ง 2 ข้างได้

การป้องกันโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

คือการใช้หลังให้ถูกวิธี หลีกเลี่ยงการก้มๆ เงยๆ, ไม่นั่งหรือทำกิจกรรมอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ, ไม่ยกของหนัก, ไม่ออกกำลังกายอย่างหนักโดยเฉพาะประเภทที่ต้องใช้หลัง, หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น (เพราะยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ทำให้กระดูกพรุน กระดูกบางได้) นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบหมวดหมู่ในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงออกกำลังการอย่างสม่ำเสมอตามศักยภาพของร่างกาย รวมถึงการได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอในช่วงเช้าและสายของวัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *