“อารมณ์เศร้าโศกที่ผิดปกติ” เกิดกับคุณหรือเปล่า?

0

การสูญเสียนับเป็นประสบการณ์เลวร้ายที่ทุกคนย่อมเคยพบเจอ ซึ่งการสูญเสียนี้ย่อมนำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจ ซึ่งอารมณ์ดังกล่าวเป็นปฏิกิริยาทางจิตใจที่เกิดขึ้นตามปกติ คนส่วนใหญ่สามารถผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้โดยไม่มีความผิดปกติทางจิตใจเกิดขึ้น แต่ในบางรายอารมณ์เศร้าโศกนี้รุนแรงและยาวนาน เรียกว่า อารมณ์เศร้าโศกที่ผิดปกติต่อการสูญเสีย

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอารมณ์เศร้าโศกที่ผิดปกติต่อการสูญเสีย ได้แก่ การประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญหรือภัยพิบัติที่รุนแรง การเสียชีวิตที่กะทันหันหรือผิดธรรมชาติ นอกจากนั้นการที่บุคคลนั้นมีความรู้สึกผิดหรือมีความผูกพันใกล้ชิดกับบุคคลที่เสียชีวิตอย่างมาก หรือมีความรู้สึกทั้งรักทั้งโกรธกับบุคคลที่เสียชีวิต รวมถึงการขาดแหล่งสนับสนุนประคับประคองทางสังคมที่ดี ก็ส่งผลให้เกิดอารมณ์เศร้าโศกที่ผิดปกติได้โดยปกติแล้ว

inventory-of-complicated-grief-1

ผู้ที่ประสบกับการสูญเสียจะมีปฏิกิริยาทางจิตใจต่อการสูญเสีย 3 ระยะ ได้แก่

  1. ระยะมึนชา จะมีความรู้สึกตกใจ ปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้น รู้สึกมึนชา ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงถึง 2-3 สัปดาห์
  2. ระยะซึมเศร้า จะมีอารมณ์เศร้าโศก ร้องไห้ คร่ำครวญ ย้ำนึกถึงบุคคลที่เสียชีวิต ความอยากอาหารลดลง นอนไม่หลับ ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ แล้วดีขึ้นเองในเวลา 2-4 เดือน โดยส่วนใหญ่มักจะไม่เกิน 6 เดือน
  3. ระยะกลับคืนสู่ปกติ กลับเข้าสู่กิจวัตรประจำวันตามปกติของบุคคลนั้น อารมณ์เศร้าโศกที่เป็นปกติต่อการสูญเสียไม่จัดว่าเป็นความผิดปกติทางจิตเวช สามารถดีขึ้นได้เองโดยไม่ต้องได้รับการรักษา

แต่ในบางราย อารมณ์เศร้าโศกจากการสูญเสียมีความรุนแรงและยาวนานเกินปกติ เรียกว่า อารมณ์เศร้าโศกที่ผิดปกติต่อการสูญเสีย ก่อให้เกิดความผิดปกติทางด้านจิตใจ ซึ่งมีลักษณะดังนี้

inventory-of-complicated-grief-2

  1. มีการโทษหรือตำหนิตัวเองอย่างมาก โดยจะมีความรู้สึกผิดเกินจริง เสียความเชื่อมั่นในตัวเอง
  2. มีความคิดหรือความตั้งใจจะฆ่าตัวตาย หรือมีการพยายามฆ่าตัวตาย
  3. มีลักษณะจิตใจและการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้าหรือกระวนกระวาย แสดงให้เห็นถึงภาวะซึมเศร้าที่รุนแรง
  4. มีอาการของโรคจิตที่ชัดเจน ได้แก่ อาการประสาทหลอน เช่น ได้ยินคนที่เสียชีวิตมาพูดคุยด้วยตลอด อาการหลงผิด เช่น หลงผิดว่าตัวเองทำบาปกรรมในอดีตจึงถูกลงโทษ หรือมีคนจะมาปองร้ายเอาชีวิต

การยอมรับการสูญเสียที่เกิดขึ้น การเข้าใจบุคคลที่เสียชีวิตและภาพความสัมพันธ์กับบุคคลที่เสียชีวิตตรงตามความเป็นจริง รวมถึงการมีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่นรอบข้าง จะช่วยให้สามารถผ่านพ้นอารมณ์เศร้าโศกจากการสูญเสียไปได้ ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรง ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการดูแลรักษาต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *