“โรคลมแดด” ใครบ้างที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง?

0

ช่วงหน้าร้อนคือตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ประเทศไทยจะมีอากาศร้อนอบอ้าวและร้อนจัด โรคที่ต้องระมัดระวังคงหนีไม่พ้น “โรคลมแดด” หรือก็คือ ภาวะอุณหภูมิในร่างกายสูง และร่างกายปรับตัวไม่ได้ นำไปสู่อาการต่างๆ ที่อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ว่าแต่โรคนี้มีคนกลุ่มใดบ้างนะที่เสี่ยงเป็นพิเศษ

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า…

ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม-17 เมษายน 2559 มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมร้อน 21 คน เป็นชาย 20 คน หญิง 1 คน อายุระหว่าง 29-72 ปี เฉพาะระหว่างวันที่ 10-17 เมษายน มีผู้เสียชีวิต 8 คน เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงอากาศร้อน

ผู้ป่วยโรคลมแดด เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส (ซึ่งปกติร่างกายของมนุษย์มีอุณหภูมิอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส)จะมีอาการเบื้องต้น ได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล สับสน ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด และยังอาจมีผลต่อระบบไหลเวียน ซึ่งอาจมีอาการเพิ่มเติม เช่น ภาวะขาดเหงื่อ เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อค หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ จากการทำงานที่ผิดปกติของระบบสมอง

6 กลุ่มเสี่ยงโรคลมแดด

heat-stroke

  1. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เล่นกีฬาหรือฝึกทหารโดยขาดการเตรียมตัวมาก่อน ผู้ใช้แรงงานกลางแดด เช่น กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร (เนื่องจากร่างกายได้รับอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน)
  2. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ (เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าวัยอื่น)
  3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง (ผู้ป่วยที่กินยาควบคุมความดัน เช่น ยาขับปัสสาวะ มีโอกาสเกิดความผิดปกติของระดับเกลือแร่ได้เร็วกว่าคนปกติ)
  4. คนอ้วน (เนื่องจากจะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ)
  5. คนอดนอน (เนื่องจากจะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ)
  6. คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด(เนื่องจากร่างกายมีโอกาสสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม เพื่อขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย)

เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นลมแดด ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หากจำเป็นให้กางร่มหรือใส่หมวก ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องรอจนหิวน้ำค่อยดื่ม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *