“ภาวะเท้าตก” คืออะไร เป็นแล้วจะรักษาหายมั้ย??

0

ภาวะเท้าตก (Foot Drop)

ภาวะที่ผู้ป่วยยกเท้าส่วนหน้า (ส่วนที่เป็นนิ้วเท้า) ขึ้นลำบาก ทำให้เวลาเดินจะเดินลากเท้า โดยเฉพาะเวลาเดินขึ้นบันได กระดกปลายเท้าไม่ขึ้น เดินลากเท้า ยกเท้าไม่พ้นพื้น อาการเดินผิดปกติดังกล่าวไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะผิดปกติ ซึ่งเกิดจากโรคต่างๆภาวะเท้าตก เกิดได้ในทุกวัย ส่วนใหญ่พบในผู้ชาย มักเกิดกับเท้าข้างเดียว (น้อยมากที่พบเกิด 2 ข้าง)

Foot Drop

ความผิดปกติที่ทำให้เกิดภาวะเท้าตก มักพบอยู่บริเวณเส้นประสาทพีโรเนียล (Peroneal nerve) ซึ่งอยู่บริเวณด้านข้างของกระดูกบริเวณข้อเข่าด้านนอก โดยผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขาร่วมด้วยอย่างไรก็ตาม สาเหตุที่พบได้น้อย อาจเกิดจากความผิดปกติของสมอง/ไขสันหลัง กล้ามเนื้อขา หรือ เส้นประสาทส่วนปลายของขาก็ได้ สำหรับสาเหตุการเกิดภาวะเท้าตก ได้แก่

  1. การกดทับเส้นประสาทพีโรเนียล(จากอุบัติเหตุของกระดูกบริเวณข้อเข่า, จากอุบัติเหตุของกระดูกขาด้านนอก, การนอนตะแคงที่กดทับเส้นประสาทนี้ เช่น ผู้ป่วยไม่พลิกตัวเลย)
  2. การกดทับเส้นประสาทพีโรเนียลจากการนั่งไขว่ห้าง นั่งขัดสมาธิเป็นเวลานานโดยไม่ขยับหรือเปลี่ยนท่า
  3. การใส่เฝือกในผู้ป่วยขาหัก แล้วขอบเฝือกบริเวณข้อเข่ากดทับเส้นประสาทดังกล่าว
  4. มีรอยโรคในสมอง หรือในไขสันหลัง เฉพาะในตำแหน่งที่ทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้กระดกข้อเท้าขึ้นอ่อนแรง
  5. โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เรียกว่า Muscular dystrophy ที่บางชนิดจะมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อเท้าได้
  6. โรคเบาหวาน ที่มีการอักเสบของเส้นประสาทเฉพาะส่วนที่ส่งกระแสประสาทมาที่เท้า
  7. ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เส้นประสาทพีโรเนียลถูกกดทับได้ง่าย

การรักษาภาวะเท้าตก ประกอบด้วย การแก้ไขสาเหตุ, การรักษาประคับประคองตามอาการและการทำกายภาพบำบัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม ผู้ป่วยส่วนใหญ่ตอบสนองต่อการรักษาดี ยกเว้นผู้ป่วยที่ปล่อยให้มีอาการนานมากเกินไปหรือมีโรคประจำตัว ฉะนั้นไม่ควรรอให้มีอาการที่รุนแรงแล้วจึงพบแพทย์

เราสามารถป้องกันภาวะเท้าตกได้โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้มีการกดทับเส้นประสาทได้ง่าย เช่น การนั่งไขว่ห้างเป็นเวลานานๆ โดยไม่เปลี่ยนท่า การนอนทับร่างกายด้านใดด้านหนึ่งนานๆ โดยไม่เปลี่ยนท่า กรณีใส่เฝือกขา ก็ต้องสังเกตว่ามีการกดทับเส้นประสาทหรือไม่ ดูว่ามีอาการชาหรือไม่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *