“ไฟลามทุ่ง” คุณรู้จักโรคนี้หรือเปล่า??

0

“ไฟลามทุ่ง” (Erysipelas) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นการอักเสบของผิวหนังชั้นหนังแท้และชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง รวมทั้งท่อน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง ส่วนใหญ่สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “เบตาเฮโมโลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (beta hemolytic group A streptococcus)” ส่วนน้อยอาจเกิดจากสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มอื่น หรือเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น

โดยเชื้ออาจเข้าสู่ผิวหนังทางรอยแยกแตกของผิวหนัง ที่เกิดจาก…

  • มีการบาดเจ็บหรือแผล  (เช่น แผลถูกของมีคมบาด แผลถลอก รอยแกะเกา)
  • รอยแยกของผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรา
  • รอยแมลงกัด
  • แผลผ่าตัด
  • บริเวณที่บวมเรื้อรัง
  • บริเวณที่มีเนื้อตายอยู่เดิม (เช่น แผลที่เท้าจากโรคเบาหวาน) ฯลฯ

ซึ่งเมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ผิวหนังชั้นหนังแท้ ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามขึ้น

erysipelas

อาการของผู้ป่วยโรคไฟลามทุ่งได้แก่ มีไข้สูง ผิวหนังบวมแดงเข้ม ขอบของผื่นยกขึ้นชัดเจน และขยายขนาดอย่างรวดเร็ว ผิวหนังมีลักษณะคล้ายเปลือกส้ม ถ้าผื่นบวมมาก อาจมีตุ่มน้ำปรากฎบนผื่นได้ ผื่นแดงที่แผ่ลามออกไปรวดเร็วนี้ เกิดจากพิษ (exotoxin) ของเชื้อโรค ไม่ใช่จากตัวเชื้อโดยตรง แม้ว่าเชื้อจะถูกกำจัดจากการใช้ยา พิษที่ตกค้างอยู่ก็ยังคงทำให้ผื่นลุกลามต่อไป จึงได้ชื่อ “ไฟลามทุ่ง” บางรายอาจมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ คลื่นไส้ และปวดศีรษะ

โรคไฟลามทุ่มพบบ่อยในเด็กทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และอาจพบเป็นปัญหาในช่วงหลังน้ำท่วมขังนอกจากนี้ยังมักพบในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ผ่าตัดหลอดเลือดดำที่ขา หรือผู้ที่มีภาวะอุดตันของหลอดเลือดหรือท่อน้ำเหลือง

การป้องกันตัวเองจากโรคไฟลามทุ่งทำได้โดยระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผลที่ผิวหนัง หรือถ้ามีแผลก็ต้องรีบทำความสะอาดและทายา, หากมีอาการคัน ไม่ควรเกาผิวหนังอย่างรุนแรง, ควรตัดเล็บให้สั้นและรักษาความสะอาดของเล็บอยู่เสมอ, หากพบว่าผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดงร้อน หรือมีลักษณะเป็นเส้นสีแดง หรือมีไข้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *