เช็คสัญญาณเตือนพร้อมวิธีลดความเสี่ยง “หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน”

0

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

หรือเรียกสั้นๆ ว่า “หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน” เป็นภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ หัวใจจะขาดเลือดและออกซิเจน ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคนี้จึงมักเกิดขึ้นทันทีแบบเฉียบพลัน อาจทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้!

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ว่า ในประเทศไทย พบว่าร้อยละ 45 ของการเสียชีวิตเฉียบพลัน เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมักเกิดขึ้นทันทีแบบเฉียบพลัน เช่น ขณะปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ทำงาน เล่นกีฬา ซึ่งการอุดตันของหลอดเลือด อาจทำให้เสียชีวิตเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง ที่น่ากลัว คือ มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจ ไม่เคยแสดงอาการมาก่อน

วิธีปฏิบัติตนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง

check-the-warning-signs-and-how-to-reduce-the-risk-nstemi

  1. หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันประเภทอิ่มตัว เช่น ไขมันจากเนื้อสัตว์ อาหารฟาสต์ฟูด เนยและผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่พร่องไขมัน เพราะจะทำให้เกิดการสะสมไขมันในผนังหลอดเลือด
  2. ไม่ปล่อยตัวให้อ้วน เพราะหากมีน้ำหนักตัวมาก หัวใจจะทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งสารอาหารไปเลี้ยงเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย ในกิจกรรมเดียวกัน หัวใจของคนที่มีน้ำหนักตัวมากจะทำงานหนักกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ
  3. ควรควบคุมอาหารและออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง จะช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดีและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ รวมถึงควรรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้นในแต่ละมื้อ
  4. หลีกเลี่ยงอารมณ์เครียด เพราะจะมีผลต่อสุขภาพหลายๆ ด้าน เช่น ปวดศีรษะไปจนถึงขั้นหัวใจวาย จึงควรทำจิตใจให้แจ่มใส อาจหากิจกรรมนันทนาการ เช่น ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง เล่นกีฬา เพื่อให้ผ่อนคลาย
  5. งดสูบบุหรี่ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นเวลานานจะทำให้ปริมาณไขมันในเลือดมีระดับสูง ลดสมรรถภาพของหัวใจในการสูบฉีดเลือดไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

สัญญาณเตือนของโรคนี้ คือ จุกแน่นหน้าอก มีเหงื่อออก ใจสั่น ปวดร้าวไปกราม สะบักหลัง แขนซ้าย จุกคอหอย จุกใต้ลิ้นปี่ คล้ายโรคกระเพาะ หรือกรดไหลย้อน ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว จะต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังมีอาการ หรือขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยันภายในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง หลังจากมีอาการ จะให้ผลการรักษาที่ดีมาก

นอกจากนี้ ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น อาหารไขมันสูง ความเครียด ออกกำลังกาย รวมถึงดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน เพื่อป้องกันโรคหัวใจที่อาจเป็นภัยเงียบทำให้เสียชีวิตได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *