ธรรมชาติของคนเป็นแม่ย่อมมีความห่วงใยลูก ยิ่งช่วง 9 เดือนแรกที่มีชีวิตน้อย ๆ อยู่ในท้อง ความกังวลยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โชคดีที่ยุคนี้มีตัวช่วยที่เรียกว่า “เครื่องอัลตร้าซาวด์” ประโยชน์ของมัน คือ ดูแลคุณแม่และลูกในครรภ์ได้สะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ว่าแต่การอัลตร้าซาวด์บ่อย ๆ จะมีอันตรายต่อเบบี๋มั้ยนะ
อัลตร้าซาวด์ (Ultrasound)
เป็นการนำคลื่นเสียงความถี่สูง (มากกว่า 20,000 เฮิซร์ต) มาใช้เพื่อตรวจอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยในแวดวงสูตินรีแพทย์ การตรวจทารกในครรภ์ด้วยการอัลตร้าซาวด์ ช่วยให้คุณหมอได้เห็นถึงขนาดและอายุครรภ์ รวมถึงเพศ ปริมาณน้ำคร่ำ ตำแหน่งของรก รวมถึงความผิดปกติของอวัยวะสำคัญใหญ่ ๆ ของทารกในครรภ์ด้วย
โดยนิยมทำอัลตร้าซาวด์หลังอายุครรภ์ 8 สัปดาห์ เพราะรูปร่างภายนอกของตัวอ่อนโค้งงอแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงไปจนมีลักษณะคล้ายมนุษย์ ส่วนการทำอัลตร้าซาวด์เพื่อดูเพศทารก สามารถทำได้ หลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์
ในปัจจุบันเทคโนโลยีการอัลตร้าซาวด์มีหลายแบบ ทั้งแบบสองมิติ สามมิติ และสี่มิติ ซึ่งจะให้ความคมชัดแตกต่างกันตามลำดับ ทั้งนี้ การวินิจฉัยความผิดปกติหลักของโครงสร้างร่างกายของทารกในครรภ์ จะใช้อัลตร้าซาวด์แบบสองมิติเป็นหลัก ส่วนแบบสามมิติและสี่มิตินั้น จะใช้ในการสังเกตรูปร่างทารกในครรภ์เพราะสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ส่วนการจะเลือกอัลตร้าซาวด์แบบกี่มิตินั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์รวมถึงวิจารณญาณจากแพทย์
ในเรื่องความปลอดภัยของการอัลตร้าซาวด์นั้น ทางการแพทย์ยืนยันว่า การใช้คลื่นเสียงความถี่สูงจากการอัลตร้าซาวด์ ไม่ส่งผลต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ เพราะไม่มีการใช้รังสี ไม่สร้างความเจ็บปวดให้แก่คุณแม่และทารกในครรภ์ และมีความเข้มข้นของเสียงผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อของร่างกายในปริมาณที่น้อยมาก ทั้งยังไม่เคยมีการศึกษาอะไรที่แสดงให้เห็นว่า ทารกที่อยู่ในครรภ์ซึ่งได้รับการทำการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเกิดความผิดปกติใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นความพิการ หรือการเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กที่ไม่ผ่านการอัลตร้าซาวด์
เรื่องความปลอดภัยจากการอัลตราซาวด์พูดเลยว่าไม่ต้องกังวล ตราบใดที่คุณพ่อคณแม่ไม่มีปัญหาเรื่องภาระค่าใช้จ่าย ก็สามารถอัลตร้าซาวด์ดูพัฒนาการของลูกน้อยได้บ่อยเท่าที่ต้องการค่ะ