อาหารการกินถือเป็นเรื่องที่คุณแม่ตั้งครรภ์ให้ความสนใจเป็นพิเศษจนเกือบจะเรียกว่านอยด์ทีเดียว เพราะกลัวว่าหากพลาดไปหม่ำของต้องห้ามขึ้นมาอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ได้
หนึ่งในอาหารสุมเสี่ยงที่คุณแม่มีน้องอาจได้ยินได้เห็นผ่านหูผ่านตามาบ้าง คือ… คนท้องห้ามกินวิตามินเอ
วิตามินเอ มีสองรูป คือ วิตามินเอจากสัตว์ ดูดซึมในรูปเรตินอล เช่น ตับ นม ไข่ ชีส อีกรูปเป็นวิตามินเอจากผักและผลไม้ บางคนเรียก โปรวิตามินเอ
มีสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ เช่น เบต้าแคโรทีน อัลฟ่าแคโรทีน เป็นต้น ตัวเบต้าแคโรทีน เป็นตัวที่ดูดซึมและเปลี่ยนรูปไปเป็นวิตามินเอได้ดีที่สุด มีมากในแครอท ผลไม้สีเหลืองส้ม เช่น แคนตาลูป มะม่วง มะเขือเทศ ผักตำลึง ผักคะน้า บร็อคโคลี่ ผักโขม ซึ่งล้วนเป็นอาหารที่คนทั่วไปไม่ว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ควรรับประทานอยู่แล้ว เพราะอุดมด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ฉะนั้นต่อข้อสงสัยที่ว่า ผู้หญิงท้องห้ามกินวิตามินเอ นั้นไม่เป็นความจริง
แม่ตั้งครรภ์สามารถกินวิตามินเอได้ เพียงแต่ว่าต้องรับในปริมาณที่เหมาะสม โดยองค์การอาหารและยา ได้กำหนดความต้องการของผู้หญิงปกติ ไว้ที่ 2,600 IU/วัน หญิงตั้งครรภ์ 3,300 IU/วัน หญิงให้นมบุตร 4,000 IU/วัน
ปริมาณวิตามินเอที่มากกว่า 25,000 IU/วัน ถือว่ามากเกินไป ซึ่งอันตรายที่เกิดจากวิตามินเอมากเกินไป ได้แก่ ภาวะแท้งบุตร หรือทารกพิการแต่กำเนิด ถ้าได้รับในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์, ภาวะตับทำงานผิดปกติ เนื่องจากวิตามินเอที่มากเกินจะถูกนำไปสะสมที่ตับ, ภาวะแร่ธาตุในกระดูกลดลง เกิดภาวะกระดูกพรุน, ระบบประสาทส่วนกลางไม่ทำงาน มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ วิงเวียน ตาพร่ามัว
สำหรับวิตามินเอที่ได้จากอาหาร ไม่ว่าจะเป็นจากสัตว์หรือจากผักผลไม้ ไม่พบความเสี่ยงในการเกิดวิตามินเอเกินปริมาณที่กำหนด เพราะจะมีการดูดซึมและเปลี่ยนรูปเป็นวิตามินเอ ได้ในปริมาณที่จำกัด จึงไม่ทำให้เกิดภาวะวิตามินเอสะสมเกินปริมาณที่กำหนด ที่น่าเป็นห่วงคือ รูปวิตามินสังเคราะห์ หรือรูปอาหารเสริม หรือยา นอกจากไม่มีประโยชน์ เสียเงินโดยใช้เหตุแล้ว ยังอาจนำไปสู่การรับวิตามินเกินได้
ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกน้อยในครรภ์ หากไม่มั่นใจในการรับประทานอาหาร รวมถึงการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ เพราะยาบางตัวอาจมีวิตามินผสมหลายชนิด