ขาดโฟลิกขณะตั้งท้อง เสี่ยง “โรคหลอดประสาทไม่ปิด”

0

“โรคหลอดประสาทไม่ปิด”

ภาวะสมองสร้างไม่สมบูรณ์ ร้อยละ 90 ของทารกมีชีวิตเกิน 1 ปี เพราะได้รับการผ่าตัดแก้ไข และร้อยละ 75 มีชีวิตจนเป็นผู้ใหญ่แต่จะพิการขาทั้งสองข้าง ระบบทางเดินปัสสาวะและอุจจาระทำงานบกพร่อง และยังมีความพิการทางสมองอีกด้วย ไม่อยากให้เบบี๋เสี่ยง มารู้จักโรคนี้กันค่ะ

ในส่วนของอาการของ “โรคหลอดประสาทไม่ปิด” (Neural tube defects) นั้น เป็นความพิการแต่กำเนิดที่พบได้บ่อยสามารถนำไปสู่ความพิการทางร่างกายที่รุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ เกิดจากหลอดประสาทเชื่อมปิดไม่สมบูรณ์ในครรภ์มารดา ช่วงระหว่างที่ตัวอ่อนมีอายุได้ 23-28 วันหลังปฏิสนธิ ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไป

สาเหตุ เกิดจากทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น ภาวะขาดวิตามินโฟลิกในคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้รับยาหรือสารเคมีระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ยากันชัก มารดาเป็นเบาหวาน

folic-acid-during-pregnancy-risk-nerve-disease-is-not-closed

ระดับความรุนแรงที่พบ

โรคหลอดประสาทไม่ปิด มีความรุนแรงแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ผิดปกติน้อยมาก เช่น กระดูกสันหลังโหว่ อาจพบเพียงกระจุกขน ถุงนํ้า หรือก้อนที่บริเวณกลางหลัง, ภาวะกระดูกสันหลังโหว่ร่วมกับมีไขสันหลังยื่นออกมา, เนื้อสมองโผล่ยื่นออกมาจากช่องกะโหลก ไปจนถึงภาวะไม่มีกะโหลกศีรษะและไร้สมองใหญ่ ซึ่งรุนแรงถึงชีวิต

แนวทางการรักษาเป็นอย่างไรบ้าง?

สำหรับการรักษาทารกที่ป่วยด้วยโรคนี้ ได้แก่ ทําการผ่าตัดแก้ไข ฟื้นฟู ทํากายภาพบําบัด และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ข้อสะโพกและข้อเข่ายึดติด อัมพาตของขาจากความผิดปกติของไขสันหลังที่ควบคุมการเคลื่อนไหว น้ำคั่งในโพรงสมองจําเป็นต้องใส่สายระบาย ปัสสาวะคั่งต้องได้รับการสวนออก เป็นต้น

ภาวะหลอดประสาทไม่ปิดมีโอกาสเกิดซ้ำในบุตรคนถัดไป การป้องกันทำได้โดยให้คุณแม่ตั้งครรภ์กินวิตามินโฟลิก 400 ไมโครกรัม อย่างน้อย 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์จนถึงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ หรือหญิงที่เคยมีบุตรเป็นโรคหลอดประสาทไม่ปิด ป้องกันการเกิดซ้ำโดยกินวิตามินโฟลิก 4,000 ไมโครกรัม อย่างน้อย 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์จนถึงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์

แม้สาเหตุของความพิการแต่กำเนิด เกินครึ่งหนึ่งมีผลมาจากกรรมพันธุ์ แต่ว่าที่คุณแม่สามารถป้องกันได้ ด้วยการกินโฟลิกก่อนตั้งครรภ์ 3 เดือน และกินหลังจากตั้งครรภ์ต่อเนื่องอีก 3 เดือนค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *