นมแม่…วัคซีนเข็มแรกของลูก ช่วยปกป้องจากการติดเชื้อ

0

การให้นมลูกน้อยเป็นหน้าที่สำคัญของคุณแม่หลังคลอด เนื่องจากน้ำนมของแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกน้อย อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 อาจสร้างความวิตกกังวลให้เหล่าคุณแม่มือใหม่ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าสามารถให้นมแม่จากเต้าหรือปั๊มนมได้ตามปกติหรือไม่?

ทารกแรกเกิดควรได้รับนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และหลัง 6 เดือน ควรได้รับนมแม่ควบคู่อาหารตามวัยจนถึง 2 ปีหรือมากกว่า ซึ่งตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือ กินนมแม่ตั้งแต่1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เป็นเรื่องจำเป็นยิ่งขึ้นจากความสมบูรณ์ของสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่ช่วยในการเจริญเติบโตของเด็ก และสร้างภูมิคุ้มกันโรค เป็นเกราะป้องกันที่แข็งแรงให้กับลูกน้อย โดยคุณแม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ในทุกสถานการณ์ 

ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า ไม่พบเชื้อโควิด -19 ในน้ำนมแม่ ในขณะรอเข้ารับการรักษาตัว แม่ยังสามารถให้นมแม่ได้ตามปกติ แต่จะต้องมีการป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด โดย 

1. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ให้นมบุตร

2. ล้างมืออย่างเคร่งครัด ทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสบุตร 

3. ก่อนการให้นมลูกทุกครั้งควรเช็ดทำความสะอาดบริเวณเต้านมและหัวนมและล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาทีก่อนให้นม

4. หากต้องปั๊มนม ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ ล้างอุปกรณ์ปั๊มนม ภาชนะบรรจุ และอุปกรณ์การป้อนนมทุก ๆ ครั้งหลังใช้งานและนึ่ง ทุกครั้ง

แม้แต่ในกรณีที่แม่เป็นผู้เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 นั้น ก็ยังคงสามารถให้นมลูกได้ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ว่า หากแม่ที่ติดเชื้อมีอาการไม่มาก สามารถให้นมจากเต้าได้แต่ต้องมีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเคร่งครัดโดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมืออย่างถูกวิธี และห้ามใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้า จมูกหรือปากรวมถึงการหอมแก้มลูก

ทั้งนี้ ควรให้คุณแม่และครอบครัวมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหากคุณแม่ไม่สะดวกที่จะให้นมจากเต้า แต่ยังสามารถบีบเก็บน้ำนมได้ ควรให้พ่อหรือผู้ช่วยเป็นผู้ป้อนนมแก่ลูกแทน โดยผู้ช่วยจะต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี มีทักษะในการให้นมและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเคร่งครัด ในกรณีที่แม่ติดเชื้อมีอาการรุนแรง แนะนำงดให้นมบุตร และอาจบีบน้ำนมทิ้งไปก่อนเพื่อให้แม่คงสภาพที่สามารถให้นมลูกได้เมื่ออาการดีขึ้น 

นอกจากนี้ แม่หลังคลอดให้นมลูก ควรไปฉีดวัคซิน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ลดการเจ็บป่วยรุนแรง ซึ่งภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในแม่ยังสามารถส่งผ่านน้ำนมไปยังลูกได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *