น่าเป็นห่วง! “ไอคิว-อีคิว” เด็กที่สูง-กันดาร ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 20%

0

พัฒนาการของเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 5 ขวบนั้น มีความสำคัญมาก เพราะบ่งบอกถึงคุณภาพของสมองเด็กโดยเฉพาะระดับไอคิวและอีคิวที่ส่งผลไปจนถึงตลอดชีวิต ที่น่าตกใจคือ เด็กปฐมวัยถิ่นที่สูง-ทุรกันดาร 10 จังหวัด ในบ้านเรา มีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กปกติ และมีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเด็กทั้งประเทศ!!

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า…

ในปีงบประมาณ 2560 กรมสุขภาพจิตได้จัดโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทยในพื้นที่สูง ห่างไกล โดยดำเนินการในสุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตชด.ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนจำนวน 5 แห่ง อาทิ บ้านห้วยกุ๊ก ต.ปอ.อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย โดยมอบให้สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ดำเนินการ พบว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้ามากกว่าเด็กพื้นที่ปกติประมาณร้อยละ 25 ระดับสติปัญญาเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศมากกว่าร้อยละ 20

worrisome-iq-eq-children-high-below-average-20

สาเหตุที่เด็กมีพัฒนาการล่าช้า เกิดมาจากการขาดทักษะการเลี้ยงดู วัฒนธรรมบางชนเผ่าจะให้พี่ช่วยเลี้ยงน้อง เนื่องจากพ่อแม่ต้องทำงานในไร่ บางชนเผ่าให้ปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยงและเลี้ยงแบบตามใจ บางชนเผ่าที่เริ่มมีไฟฟ้าใช้ ก็เริ่มให้ลูกใช้โทรศัพท์มือถือ และเริ่มมีปัญหาเด็กติดโทรศัพท์ ส่งผลให้เด็กไม่ถูกกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับเด็กรวมทั้งความอบอุ่นผูกพันระหว่างกันลดลง เป็นเรื่องที่ต้องเร่งส่งเสริมแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า

ในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่สุขศาลาพระราชทานฯทั้ง 5 แห่ง ได้ใช้กระบวนกลุ่มเข้ามาช่วยทั้งกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง และกลุ่มเด็กทั้งหมดในหมู่บ้าน ซึ่งเด็กจะเข้าใจภาษาชนเผ่าได้ดี โดยได้ปรับใช้เครื่องมือส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่ใช้กับเด็กพื้นราบ และเพิ่มกลยุทธ์เสริม 3 ปรับ 3 เพิ่ม เพื่อให้เด็กได้รับโอกาสการพัฒนา โดยหลังจากใช้กลยุทธ์ดังกล่าวกระตุ้นพัฒนาการเด็กปฐมวัยร่วมกับครอบครัว 145 ครอบครัว พบว่าได้ผลดีมาก เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นกว่าเดิมสูงถึงร้อยละ 80

สำหรับกลยุทธ์ 3 ปรับ ได้แก่ ปรับจากการฝึกหรือออกคำสั่งให้เด็กทำ เป็นการ “เล่น” กับเด็ก, ปรับจากการฝึกเด็กมาเป็น “ฝึกพ่อแม่” และปรับจากการฝึกรายบุคคล เป็นการทำ “กลุ่มครอบครัว” ส่วนกลยุทธ์ 3 เพิ่ม ได้แก่ เพิ่มการสร้าง“ความฉลาดทางอารมณ์และความผูกพันในครอบครัว”, เพิ่มการสร้าง “วินัยเชิงบวก” และเพิ่มการสร้าง“ทักษะและทัศนคติของผู้ปกครอง”

ดังนั้น ในการเลี้ยงลูก ไม่ควรตามใจทำแทนลูกทุกอย่าง หรือการโอ๋เอาใจลูก เนื่องจากจะทำให้เด็กขาดการกระตุ้นพัฒนาการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *