PM 2.5 ฝุ่นร้ายอันตรายต่อเด็ก ไม่อยากเสี่ยงต้องป้องกัน

0

ในช่วงนี้บางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ เด็กเล็ก ที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี

 

25

 

ฝุ่นละออง PM 2.5 คือ ฝุ่นขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ถึง 25เท่า ทำให้สูดเข้าไปในร่างกายได้โดยตรง สามารถเข้าไปถึงถุงลมในปอดได้ เป็นผลทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และโรคปอดต่างๆ หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทำให้การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ทำให้หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบหืด นอกจากนี้ ยังทำให้เสี่ยงต่อ โรคหลอดเลือดในสมอง โรคปอดอุดกลั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด มะเร็งปอด โรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง

 

ความรุนแรงของ ฝุ่น PM 2.5 นี้ มีอันตรายต่อเด็กเพราะสามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกาย และทำลายระบบต่าง ๆ ได้ ซึ่งปกติแล้วเด็กจะมีอัตราการหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่ จะสูดอากาศที่มีมลพิษเข้าไปมากกว่าผู้ใหญ่ ยิ่งเด็กอายุน้อยเท่าไร อัตราการหายใจเข้าต่อนาทีก็ยิ่งถี่มากขึ้นเท่านั้น

 

ดังนั้น เด็กจึงมีความเปราะบางต่อผลกระทบต่าง ๆ มากกว่าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5  ผ่านเข้าไปในสมองของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา ฝุ่นละอองเหล่านี้จะทำลายเซลล์สมอง ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งสามารถส่งผลต่อการเรียนรู้ ความเป็นอยู่ และความสามารถในการประกอบอาชีพในระยะยาวด้วย เพื่อลดความเสี่ยงของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลเจ้าตัวซน ดังนี้

 

  1. หลีกเลี่ยงการพาเด็ก ๆ ไปทำกิจกรรมนอกบ้าน กรณีที่มีความจำเป็นต้องออกไปนอกบ้าน ควรสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกัน PM 2.5 ได้คือ หน้ากากอนามัย N95 โดยเลือกขนาดเล็กที่เหมาะกับเด็ก ขนาดพอดีหน้า ไม่มีช่องให้ฝุ่นรอดเข้าไปได้ รวมถึงตรวจสอบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่แอปพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อประเมินความเสี่ยงและหาวิธีป้องกันการสัมผัสฝุ่น
  2. กรณีเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ ควรเสริมเกราะป้องกันเจ้าตัวซนจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5อีกขั้น โดยการให้สวมแว่นตา เสื้อแขนยาวขายาวที่มิดชิด เพื่อป้องกันฝุ่น เพราะฝุ่นจะทำให้เกิดการระคายเคืองตาและผิวหนังได้
  3. ดูแลทำความสะอาดบ้านให้ปลอดฝุ่น โดยการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด และปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด
  4. ดูแลให้เด็กดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 6 – 8 แก้วต่อวัน รวมถึงรับประทานผักผลไม้ อาหารที่มีประโยชน์
  5. กรณีเด็กที่มีโรคประจำตัวควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และสังเกตอาการของเด็ก หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออกให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาทันที

 

ทั้งนี้ เด็กเล็กที่มีโรคในระบบทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคหลอดลมอักเสบ จะมีอาการไวต่ออากาศที่เป็นมลพิษ หรือสภาพอาการแปรปรวน พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *