เมื่อพูดถึง “โรคหัวใจ” ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ โรคนี้จึงเป็นโรคที่พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกน้อยวัยซนไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก นอกจากบุตรหลานหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคหัวใจ จึงเริ่มให้ความสนใจโรคหัวใจในเด็กมากขึ้น ทั้งที่จริงแล้ว เจ้าตัวเล็กก็มีความเสี่ยงที่จะพบว่าเป็น “โรคหัวใจ” ได้เช่นกันค่ะ
“โรคหัวใจ” (Heart disease)
หรือโรคที่เกิดกับหัวใจ มีได้หลายโรค แต่ทั้งนี้ อาการที่สัมพันธ์กับหัวใจนั้น มีไม่มากนัก รวมถึงยังมีโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายคลึงกัน สำหรับโรคหัวใจในเด็กนั้น จากสถิติโดยเฉลี่ยในเด็ก 1,000 คนจะพบเด็กเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดถึง 8 คน ซึ่งถือเป็นโรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุดในวัยเด็ก
ส่วนโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง คือ เด็กเป็นโรคหัวใจภายหลังเกิด หรือเมื่ออายุหลายๆ ปี เกิดจากสาเหตุต่างๆ อาทิ โรคหัวใจรูห์มาติก โรคคาวาซากิ โรคหัวใจจากการติดเชื้อ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ การอักเสบของหัวใจจากแบคทีเรีย โรคหัวใจเหน็บชา ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทั้งนี้ ความรุนแรงของโรคหัวใจในเด็กนั้นไม่เพียงแต่ทำให้เด็กมีพัฒนาการและเติบโตช้าแต่อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
5 อาการสัญญาณเตือน โรคหัวใจในเด็ก
ที่ควรพาเจ้าตัวซนมาเข้ารับการตรวจและรักษาให้ทันท่วงที โดย นพ.อภิชัย คงพัฒนะโยธิน กุมารเวชศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ มีดังนี้
- หายใจหอบ เหนื่อยง่าย
- เล็บและปากเขียว
- ใจสั่น หน้ามืด หรือเป็นลมบ่อยๆ ซึ่งอาจจะเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- อาการอื่นๆ เช่น เจ็บหน้าอก เป็นต้น (ในเด็กจะพบอาการลักษณะนี้ไม่มากเท่าผู้ใหญ่ อาการเจ็บหน้าอกในเด็กมีส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดจากโรคหัวใจ)
- แพทย์ตรวจพบว่ามีเสียงหัวใจผิดปกติ ซึ่งอาจแสดงหรือไม่แสดงอาการที่ผิดปกติก็ได้
นอกจากนี้ เด็กที่เป็นโรคหัวใจอาจจะโตช้า โดยเฉพาะรายที่มีภาวะหัวใจวาย มีอาการหายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ส่วนสูงและน้ำหนักไม่เป็นไปตามเกณฑ์ เติบโตช้าไม่ทันเพื่อน เพราะหัวใจต้องทำงานหนักร่วมกับมีอาการหอบและรับประทานอาหารได้น้อย ซึ่งเป็นอีกข้อสังเกตที่พ่อแม่ควรใส่ใจและสังเกตอยู่เสมอ
ฉะนั้น หากเจ้าตัวน้อยมีอาการที่เข้าข่ายเหล่านี้ ควรรีบเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกาย หรือแนะนำให้พาเจ้าตัวน้อยไปตรวจสุขภาพกับกุมารแพทย์เป็นประจำทุกๆ ปีค่ะ