4 แนวทางการเว้นระยะห่างทางสังคมสำหรับครอบครัว

0

ในยุคโรคโควิด-19 ระบาด หลายๆ คนคงได้ยินคำว่า “การเว้นระยะห่างทางสังคม” จนคุ้นหู ซึ่งเป็นการรักษาระยะห่างทางกายภาพระหว่างตัวเราเองกับคนอื่น ๆ อย่างน้อย 2 เมตร อยู่ในที่พักอาศัย หลีกเลี่ยงการออกไปในที่ที่คนพลุกพล่านหรือรวมกลุ่มกัน เป็นมาตรการที่แม้คนในครอบครัวเดียวกันก็ต้องปฏิบัติ

ข้อมูลจากหนังสือ “องค์ความรู้การดูแลสุขภาพใจในสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ใจพร้อม ไม่ยอมป่วย” โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมาตรการ “การเว้นระยะห่างทางสังคม” (social distancing) นี้ว่า ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถป้องกันการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยทุเลาความรุนแรงของการระบาดได้จริง และที่สำคัญเป็นสิ่งที่สมาชิกในครอบครัวต้องปฏิบัติด้วยเช่นกัน

สมาชิกในครอบครัวสามารถใช้ชีวิตภายใต้ “การเว้นระยะห่างทางสังคม” ได้ด้วยแนวทาง 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. สร้างกฎของบ้าน หรือทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อป้องกันการติดโรคหรือแพร่กระจายเชื้อ เช่น ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกัน เช่น จับมือ กอด หอมแก้ม ฯลฯ รักษาระยะห่าง 2 เมตร แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะจำเป็นต้องคุยหรือสัมผัสกันในระยะใกล้ ต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ลดการออกนอกบ้าน งดการใช้ภาชนะอุปกรณ์รับประทานอาหารร่วมกัน หากคนใดคนหนึ่งในครอบครัวต้องกล้าบอกความจริงเมื่อไม่ทำตามกฎที่ตกลงไว้ และสมาชิกคนอื่น ๆ ควรเตือนกัน หาทางแก้ไข ไม่ควรกล่าวโทษหรือซ้ำเติมกัน

2. พูดคุยสื่อสาร แม้ว่ากายจะต้องห่าง แต่สมาชิกสามารถแสดงความรัก ความห่วงใย ผ่านคำพูดแทนการสัมผัส เช่น การพูดคุยถามไถ่ว่า “เหนื่อยไหม” “เป็นห่วงนะ” “เป็นกำลังใจให้นะ” ถ้าหากสมาชิกครอบครัวไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน ให้ติดต่อสื่อสารผ่านมือถือหรือโซเชียลมีเดีย

3. เรียนรู้สิ่งใหม่ ใช้โอกาสเมื่อต้องอยู่บ้านหรือเวลาว่าง ทำสิ่งใหม่ ๆ อาจเป็นงานอดิเรกหรือทักษะใหม่ ๆ เช่น ทำอาหาร ทำขนม เย็บปักถักร้อย ปลูกต้นไม้ เป็นต้นหรืออาจฝึกทักษะใหม่ ๆ ที่เคยอยากทำ เช่น วาดภาพ ประดิษฐ์ที่ติดผม หรือแม้แต่ลงเรียนความรู้ใหม่ ๆ ทางออนไลน์ กิจกรรมเหล่านี้ สามารถลดความเบื่อหน่าย ผ่อนคลายความเครียดจากการต้องใช้เวลาอยู่ในบ้านนาน ๆ ได้เป็นอย่างดี

4. ใช้ระยะปลอดภัย จัดสถานที่ แยกของใช้ของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ควรจัดให้มีผู้ดูแลหลักคนเดียวไม่ควรเปลี่ยนบ่อยและได้รับการฝึกทักษะในการดูแล ที่สำคัญต้องแน่ใจว่าผู้ดูแลหลักต้องไม่ใช้ผู้เสี่ยงติดเชื้อ ทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็ก แม้ว่ามาตรการ “การเว้นระยะห่างทางสังคม” อาจทำให้สมาชิกครอบครัวรู้สึกอึดอัดใจ ไม่สะดวกสบายเนื่องจากต้องจำกัดพฤติกรรมบางอย่าง แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปฏิบัติเพื่อลดการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *