วางแผนแต่งงานแบบคนรุ่นใหม่.. ต้องใช้ ‘ 2 ที่ปรึกษา’

0

“การปรึกษาก่อนแต่งงาน” ดูเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับบ้านเรา ก่อนแต่งงานก็คงปรึกษาหารือกับผู้ใหญ่ในครอบครัว  แต่ส่วนใหญ่ของการปรึกษากันในครอบครัว มักเป็นเรื่องการเตรียมการเรื่องงานแต่ง หลังแต่งงานจะอยู่ที่ไหน แต่การปรึกษาก่อนสมรสเป็นการพูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษา เพื่อเตรียมความเข้าใจกับสถานการณ์ที่รออยู่หลังแต่ง ทั้งสองฝ่ายมีรูปแบบการแสดงออกอย่างไร

เมื่อเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังแต่ง ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเตรียมรับมือไว้ก่อน ซึ่งรวมทั้งการตรวจสุขภาพของทั้งคู่ ที่อาจมีผลต่อการวางแผนเรื่องการตั้งครรภ์ต่อไป ถ้าได้ตระหนักไว้ก่อนที่จะได้แต่งงานกัน ก็อาจจะช่วยให้การครองคู่หรือการใช้ชีวิตสมรสเป็นไปด้วยความราบรื่นมากขึ้น ไม่ต้องมาตามแก้ปัญหาหรือว่ามาผิดหวังกันภายหลังค่ะ

ปรึกษาทางการแพทย์

โรคบางโรคอาจจะทำให้รู้สึกลำบากใจ ในการที่จะใช้ชีวิตสมรสร่วมกัน ถ้าได้ตรวจก่อน ได้ทำการรักษาก่อน เพราะโรคหลายๆ โรครักษาให้หายได้ หรือถ้าเป็นโรคบางโรคที่รักษาไม่ได้ ก็อาจจะมีข้อแนะนำจากแพทย์ในเรื่องการดูแลหรือการที่จะแก้ไข หรือป้องกันอย่างไร

วางแผนแต่งงาน (1)

ยกตัวอย่างเช่นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่หลายคนก็อาจจะพลาดไปโดยที่ไม่รู้ตัว โดยเฉพาะโรคเอดส์  โรคต่อไปที่แพทย์จะตรวจก็คือโรคทางพันธุกรรม อาจจะไม่ใช่เป็นข้อกำหนดชัดเจนว่า ถ้ามีโรคทางกรรมพันธุ์อย่างนี้แล้ว จะไม่แต่งงานกัน เพียงแต่ว่าหลายๆ โรคทางกรรมพันธุ์นั้นแพทย์สามารถให้คำปรึกษาในเรื่องการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ และควรจะทำอย่างไรในการที่จะป้องกันหรือแก้ปัญหาในเรื่องการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์

จะเห็นว่าการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์นั้นไม่ใช่เพื่อเป็นการจับผิด ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่ใช่เป็นข้อกำหนดที่จะไม่แต่งงานกัน แต่จริงๆ แล้ว เป็นการช่วยให้การแต่งงานมีความปลอดภัยมากขึ้นนั่นเองค่ะ

ปรึกษาเรื่องสภาพจิตใจ

นอกจากจะให้การปรึกษาทางการแพทย์แล้ว จะมีการให้คำปรึกษาเรื่อสภาพจิตใจไปด้วย การแต่งงานเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตมาก คนสองคนจะต้องมาปรับตัวเข้าหากัน ต้องมาอยู่ร่วมกัน ใช้เวลาอยู่ด้วยกันตลอดเวลามากกว่าตอนที่เป็นแฟนกัน

วางแผนแต่งงาน (2)

นอกจากนี้ตอนที่เป็นแฟนกันบางครั้งด้วยความที่เรารักกัน ทำให้มองไม่เห็นปัญหาบางอย่าง ซึ่งซ่อนอยู่หรือไม่ได้เปิดเผยหรือว่าไม่ได้แสดงออกมา แต่งงานแล้วไปตำหนิกันในภายหลังก็คงทำให้ขุ่นข้องหมองใจกัน เพราะฉะนั้นการให้คำปรึกษาก่อนสมรส ก็มักจะเป็นการศึกษากันอย่างเปิดเผย โดยผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นคนนอกมองเข้าไปในความสัมพันธ์ของทั้งสองคน ชี้แนะให้เห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีความคิด มีความรู้สึก มีแนวคิด มีความเห็นอย่างไรต่อกัน

และเมื่อต่างฝ่ายต่างได้ศึกษากันอย่างเปิดเผย แล้วมองเห็นกันและกันด้วยความชัดเจนขึ้น    ผู้ให้คำปรึกษาก็จะให้คำแนะนำต่อไปในการที่เราจะปรับตัวเข้าหากัน หรือให้คำแนะนำเพื่อลดความขัดแย้ง

แม้ว่าจะมาจากชีวิตครอบครัวที่ต่างกัน มีวิธีชีวิตที่ต่างกัน ก็จะแก้ไขกันได้แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตแต่งงาน หรือแม้กระทั่งตอนที่เตรียมจะแต่งงาน หลายท่านอาจเริ่มมีข้อขัดแย้ง มีปัญหาในเรื่องครอบครัวของทั้ง ฝ่ายชายฝ่ายหญิง ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องครอบครัวอีกมากมายหลายอย่าง ฉะนั้นการที่มีผู้ให้คำปรึกษาเป็นทางเลือกที่จะช่วยให้เตรียมการเข้าสู่การแต่งงานด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกันอย่างชัดเจนค่ะ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *