อุบัติเหตุที่เกิดกับทารกมักเกิดขึ้นภายในบ้าน เนื่องจากกิจกรรมส่วนใหญ่ของเบบี๋เป็นเรื่องของการกิน การนอน และการขับถ่าย ในส่วนของการกินนั้นเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่คุณแม่ต้องศึกษา รวมถึงดูแลลูกน้อยด้วยความใส่ใจและระมัดระวัง เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุจากการกินกับเบบี๋ผู้ไร้เดียงสาได้ทุกเมื่อ
3 อุบัติเหตุจากการกินของเบบี๋ที่มักพบบ่อย
จากการสำลักน้ำนมหรือแหวะนม
แบ่งเป็นสาเหตุจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยปัจจัยภายใน เช่น เบบี๋ที่มีปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการดูดกลืน, เบบี๋ที่มีปัญหาเรื่องปอดและหัวใจ, เบบี๋ที่มีปัญหาพัฒนาการที่ล่าช้า เด็กเหล่านี้โอกาสสำลักนมได้ง่าย ส่วนปัจจัยภายนอก เช่น วิธีการให้นม, การอุ้มลูกเพื่อให้นมในท่าที่ไม่เหมาะสม, การป้อนนมให้เบบี๋ทั้งที่ลูกยังอิ่มอยู่, การใช้จุกนมขวดที่ผิดขนาด และไม่เหมาะสมกับช่วงวัย
จากการสำลักอาหาร
ทารกที่ยังไม่รู้ลำดับการเคี้ยวกลืนและหายใจในที่ถูกต้อง บางครั้งเมื่อเด็กน้อยรับประทานอาหารเข้าไป จึงอาจเกิดการสำลักเข้าไปในหลอดลมทำให้เกิดอันตราย เนื่องจากเศษอาหารไปปิดกั้นทางเดินหายใจ เด็กไม่สามารถหายใจนำอากาศเข้าและออกได้ ทำให้เสียชีวิต ทั้งนี้อาหารที่ไม่ควรให้เบบี๋รับประทานเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงต่อการสำลัก ได้แก่ ข้าวโพดคั่ว, ไส้กรอกตัดเป็นชิ้นกลม, ถั่ว, องุ่น, มะเขือเทศ, มาร์ชเมลโลว์
จากการกลืนสารพิษ
เมื่อเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป เริ่มคลานได้ เด็กมักชอบคลานไปตามบริเวณต่างๆ ภายในบ้าน ชอบใช้มือหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ที่เด็กคว้าหยิบได้เข้าปาก สารพิษที่ก่อให้เกิดอันตราย เช่น ผงซักฟอก น้ำยาขัดห้องน้ำ สบู่ ยาฉีดยุง และ ถ่านไฟฉาย เป็นต้น ผู้ใหญ่ควรเก็บสารพิษไว้ในที่ที่ปลอดภัยให้พ้นจากมือเด็ก ควรทำลูกกรงกั้นไม่ให้คลานเข้าไปหยิบมาเล่นได้
จะเห็นได้ว่าทารกน้อยเป็นวัยมีความเสี่ยงอันตรายจากสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวเด็ก พ่อแม่จึงควรให้ความสนใจดูแล และเอาใจใส่ ช่วยให้เด็กผ่านพ้นอุบัติเหตุและอันตรายช่วงวัยทารกไปได้อย่างดี