รู้จักการนอนของเบบี๋… รู้วิธีดูแล

0

เรื่องนอนของลูกยังเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคุณพ่อคุณแม่เสมอ เรามาคลายความกังวล ด้วยการเรียนรู้ถึงลักษณะการนอนในรูปแบบต่างๆ ของลูกน้อย พร้อมเทคนิค การดูแลสุขภาพเรื่องนอนมาฝากค่ะ

นอนนิ่ง

Baby taking a nap

ช่วงแรกเกิด ลูกจะกินกับนอนนิ่งเป็นหลัก นอนได้นานวันละ 20 ชั่วโมงต่อวันโดยเฉลี่ย และดูดนมบ่อยทุก 2-3 ชั่วโมง แต่ร่างกายของลูกสามารถตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมโดยอัตโนมัติ เป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับที่เรียกว่า รีเฟล็ก เช่น เมื่อคุณแม่ใช้นิ้วมือเขี่ยฝ่ามือ ฝ่ามือของลูกจะกำนิ้วมือของคุณแม่ หรือหากจับตัวลูกแบบปุ๊บปับฉับพลัน แขน-ขาทั้งสองข้างของลูกจะกางออก

การดูแล

การชูของเล่นให้ลูกมอง และคว้าจับสิ่งของ จะช่วยฝึกทักษะการมองเห็น และออกกำลังกายกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ส่วนแขน ขา ได้เป็นอย่างดี และเป็นวิธีสร้างความผูกพันระหว่างแม่ลูกด้วยค่ะ


 

นอนหงาย

Sleeping Japanese baby girl

เป็นท่านอนที่ปลอดภัย คุณหมอก็แนะนำค่ะ เพราะช่วยลดปัญหา “ภาวะทารกหยุดหายใจขณะหลับ” Sudden Infant Death syndrome (SIDS) จากการนอนท่าคว่ำ สาเหตุการหายใจไม่ออกจากการที่จมูกหรือปากถูกทับไว้

การดูแล

ช่วงเดือนที่ 3-4  ถ้าคุณแม่จะจัดให้ลูกนอนคว่ำ ในช่วงที่ตื่นอยู่บ้างก็ดี เพื่อส่งเสริมพัฒนาการ ฝึกให้ลูกได้ชันคอ ฝึกพลิกตัว ควรอยู่ข้างๆ ลูกเสมอ สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรมีผ้า หรือหมอนอยู่ใกล้ในขณะที่ลูกนอนคว่ำ เพราะอาจปิดจมูกของลูก


 

นอนดิ้น

baby sleeping

เข้าสู่เดือนที่ 6 ลูกจะเริ่มปรับตัว เรียนรู้ที่จะหลับ-ตื่นเป็นเวลามากขึ้น พัฒนาการทางร่างกาย กล้ามเนื้อมัดใหญ่ก็แข็งแรงมากขึ้น ศีรษะตั้งตรง ชันคอและอกพ้นจากพื้นโดยใช้ท่อนแขนทั้ง 2 ข้างพยุงตัว ช่วงนี้ลูกน้อยจึงเคลื่อนไหวร่างกายได้ดี ไม่นอนอยู่นิ่งอีกต่อไป

การดูแล

ควรใกล้ชิด ดูแลเป็นพิเศษ เช่น บริเวณเตียงหรือเปลนอน ไม่ให้ลูกนอนคนเดียว เพราะเมื่อลูกโตพอที่จะเคลื่อนไหวตัวเองได้มากขึ้น อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้


 

นอนกรน

Content sleeping baby

เวลาลูกนอนหงาย มักมีเสียงหายใจมีเสียงดังฟี่ๆ ก็เพราะหลอดลมที่อยู่ด้านหน้า กระดูกอ่อนที่เป็นโครงสร้างของหลอดลมยังเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้หลอดลมหล่นลงมาขัดขวางอากาศที่ถูกหายใจเข้าสู่ทางเดินหายใจ เมื่อลูกหายใจเข้า-ออก จึงเกิดเสียงดัง เหมือนเสียงกรนของผู้ใหญ่

การดูแล

คุณแม่อาจเปลี่ยนท่านอนให้ลูกนอนตะแคงได้บ้าง หากไม่แน่ใจกับสาเหตุของการนอนกรน อาจปรึกษาคุณหมอ เพื่อการดูแลลูกน้อยที่ถูกต้องเหมาะสม


 

สำหรับเด็กๆ บางคนอาจนอนหลับเปลือกตาปิดไม่สนิท  อันนี้เป็นธรรมชาติของเด็กแต่ละคน เรียกว่า ตากระต่าย ก็ไม่มีผลเสียอะไรต่อลูกนะคะ  คุณแม่ไม่ต้องกังวลค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *