“โรคปากแหว่งเพดานโหว่”
หรือ Cleft lip and cleft palate เป็นความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า เป็นความพิการแต่กำเนิดที่พบมากที่สุดอันหนึ่งของเด็ก ประมาณการกันว่า อัตราผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่เกิดราว 1 ในทารกแรกเกิด 600-800 คน นี่เองจึงทำให้พ่อแม่ที่คิดจะมีเบบี๋ควรทำความรู้จักโรคนี้ค่ะ
โดย “ปากแหว่งเพดานโหว่” เป็นภาวะที่มีความบกพร่องหลายอย่างร่วมกัน เช่น โครงสร้างของปากและใบหน้าผิดปกติ, ปัญหาในการดูดกลืนอาหาร, มีพัฒนาการและการเจริญเติบโตช้า, ปัญหาในการพูดได้แก่ พูดไม่ชัด เสียงขึ้นจมูก เสียงแหบ พูดฟังไม่รู้เรื่อง หูน้ำหนวก, การสบกันของฟันผิดปกติ
สาเหตุของภาวะปากแหว่งเพดานโหว่นั้นแม้ว่าไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน แต่พบว่ามีอัตราสูง จากปัจจัยจากภายในและปัจจัยจากภายนอกหรือสิ่งแวดล้อมคือ…
- กรรมพันธุ์
- สิ่งแวดล้อม ได้แก่ การเจ็บป่วยของมารดาขณะตั้งครรภ์, ภาวะขาดสารอาหารของมารดาในระหว่างตั้งครรภ์, มารดาสูบบุหรี่จัด, มารดาได้รับยาหรือสารบางชนิดต่อเนื่อง เช่น ยากันชัก ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ สารพิษ สารเคมี การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การขาดกรดโฟลิคในระหว่างมารดาตั้งครรภ์ เป็นต้น
ลักษณะของปากแหว่ง หากเกิดที่ด้านบนของริมฝีปากในลักษณะช่องว่างเล็กๆ หรือเว้าเล็กน้อยเรียกว่า ปากแหว่งไม่สมบูรณ์ หรือปากแหว่งบางส่วน แต่หากรอยแยกนี้ต่อเนื่องไปถึงจมูกเรียกว่า ปากแหว่งสมบูรณ์ ปากแหว่งอาจเกิดข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ ปากแหว่งมีสาเหตุจากการเชื่อมของขากรรไกรบนและส่วนยื่นจมูกด้านใกล้กลาง เพื่อเป็นเพดานปากปฐมภูมิ ไม่สมบูรณ์
ในส่วนของการรักษานั้น การผ่าตัดเพื่อปิดปากแหว่งมีความง่ายกว่าการรักษาเพดานโหว่ กระบวนการรักษามักจะเกิดขึ้นภายใน 3-4 เดือนหลังจากเกิด และบาดแผลมักจะจางไปเมื่อเด็กโตขึ้น ส่วนอาการเพดานโหว่ การผ่าตัดมักจะต้องรอจนกระทั่งเด็กอายุ 1-2 ปี เมื่อขากรรไกรบนโตเต็มที่ ถ้ามีอาการรุนแรงมาก การผ่าตัดอาจต้องรอจนกระทั่งเด็กอายุ 5-7 ปีเพื่อป้องกันปัญหาทางโครงสร้าง
ฉะนั้น การตรวจสุขภาพของคุณแม่และเบบี๋ตั้งแต่ก่อนคลอดและหลังคลอดอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ห้ามละเลย เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่ได้อย่างทันท่วงทีค่ะ