เจ้าตัวเล็กของคุณพ่อคุณแม่ดูเป็นคนโมโหง่าย ชอบกัด ข่วน จิก ทึ้งผม หรือว่าทุบตีคนอื่น ๆ ยามที่ไม่ได้ดังใจหรือเปล่าคะ ถ้ามีพฤติกรรมแบบนี้จะปล่อยเอาไว้ไม่ได้แล้วล่ะค่ะ คงจะต้องหาทางแก้ไขกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งในช่วงเริ่มแรกคุณพ่อคุณแม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเจ้าตัวเล็กก่อนได้ด้วยตัวเอง ตามคำแนะนำเหล่านี้ค่ะ
- ให้ความสำคัญกับอารมณ์ของเขามากกว่าการแสดงออก
หากครั้งหน้าเจ้าตัวเล็กเกิดโมโหทุบตีคนอื่นขึ้นมา จับมือเขาไว้แล้วบอกว่า “ไม่เป็นไรนะถ้าหนูจะโมโห แต่หนูจะไปตีคนอื่นแบบนี้ไม่ได้นะคะ” เพื่อบอกให้เขารู้ว่าอารมณ์ที่เกิดกับเขาตอนนี้เป็นเรื่องปกติ แต่การกระทำของเขาต่างหากที่ไม่สมควรทำ
- อย่าคาดหวังเหตุผลกับเด็กเล็ก
อย่าพยายามอธิบายว่า “ลองคิดดูสิ ถ้ามีคนอื่นมาตีหนู หนูจะรู้สึกยังไง” สิ่งที่ควรทำคือการแสดงให้เขาเห็นผลของการกระทำอย่างชัดเจนมากกว่า เช่น หากเขาตีเพื่อนคนหนึ่งที่สนามเด็กเล่น คุณจะพาเขากลับบ้านทันที หรือ หากเขากัดมือเพื่อนที่มาขอแบ่งของเล่น คุณจะหยิบของเล่นชิ้นนั้นออกจากมือของเขา เป็นต้น
- ใช้นิทานช่วยสอน
หานิทานน่ารัก ๆ ที่มีเนื้อหาสอดคล้องไปในทางเดียวกับที่คุณสอนเขา แล้วนั่งลงอ่านด้วยกัน เช่น เป็ดน้อยไม่มีเพื่อนเพราะไล่กัดเพื่อน, รู้จักมือของเรา เอาไว้จับของ ไม่เอาไว้ตี ฯลฯ เพื่อให้เขาได้ค่อย ๆ เรียนรู้ว่า สิ่งที่คุณคุณสอนไม่ได้ออกมาจากตัวคุณเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่คนอื่น ๆ ก็ต้องทำเหมือนกัน
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้หงุดหงิด
พยายามหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่ทำให้ลูกหงุดหงิดได้ง่าย เช่น การมีเด็กหลาย ๆ คนมาห้อมล้อม, น้องสาวขึ้นไปกระโดดบนเตียงของเขา หรือเห็นว่าเขากำลังจะหงุดหงิดเพราะเหนื่อยหรือหิว ก็รีบอุ้มออกมาจากสนามเด็กเล่นเสียเลย ก็จะทำให้เจ้าตัวเล็กของคุณไม่ระเบิดอารมณ์ได้ค่ะ
- หาอุปกรณ์ขบเคี้ยวแก้มันเขี้ยว
บางทีการที่เด็กเล็ก ๆ ชอบกัดหรืองับคนอื่น ๆ อาจเป็นเพราะว่ากำลังมันเขี้ยวอยู่ก็เป็นได้ หาของเล่นชิ้นใหญ่ ๆ (เพื่อเจ้าตัวเล็กจะได้ไม่เผลอกลืนลงไป) ไม่มีคม และยืดหยุ่นได้ดี พกติดกระเป๋าไว้ ให้เขาได้หยิบมากัดในยามมันเขี้ยว
- ท่าสงบสติอารมณ์
หากเห็นว่าลูกน้อยกำลังหงุดหงิดทำร้ายคนอื่นหรือว่าตัวเอง ให้รวบตัวเขามานั่งบนตัก ซึ่งคุณนั่งขัดสมาธิไว้ โดยใช้สองมือโอบรอบตัว และให้เขาหันหน้าไปทางเดียวกับคุณ บอกเขาว่า “ถ้าหนูเลิกหยิกเลิกตี แล้วคุณพแม่จะปล่อยนะคะ” และเมื่อรู้สึกว่าเขาเริ่มสงบลง ร่างกายเริ่มผ่อนคลาย คุณจึงปล่อยเขาออก โดยไม่ลืมกล่าวคำชมด้วยว่า “เก่งจังเลยลูกรักที่เลิกหยิกเลิกตีได้ หนูจะเป็นเด็กดีมาก ๆ ถ้าทำแบบนี้นะคะ”
- เลิกใช้คำว่า “อย่า”, “ไม่” หรือ “ห้าม” กับลูก
เพื่อให้เด็ก ๆ ยอมรับฟังคุณโดยไม่รู้สึกต่อต้าน จงหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “อย่า” “ไม่” หรือ “ห้าม” กับลูกเด็กขาด เช่น แทนที่จะพูดว่า “ห้ามตีเพื่อนนะ” เป็น “เล่นกับเพื่อนดีๆ นะคะ เพื่อนจะได้มาเล่นกับหนูอีก” แล้วเจ้าตัวน้อยก็จะค่อย ๆ ซึมซับได้ว่าเขาควรจัดการกับอารมณ์ในสถานการณ์เช่นนี้อย่างไร
- สอนให้ลูกมีสมาธิมากขึ้นด้วยวิธีง่าย ๆ
เมื่อเห็นว่าลูกกำลังโมโห จูงมือเจ้าตัวน้อยไปที่เงียบ ๆ แล้วบอกว่า ให้เขาหายใจเข้า-ออก 5 ครั้ง โดยคุณทำให้เขาดูเป็นตัวอย่างด้วย นอกจากจะเบี่ยงเบนความสนใจจากอารมณ์หงุดหงิดมาสู่สิ่งอื่นได้แล้ว เขาก็ยังได้เรียนรู้ที่จะทำสมาธิและมีความอดทนมากขึ้นทีละนิดด้วย
- อย่าบังคับให้ลูกพูดว่าขอโทษ
การบังคับให้เด็กพูดว่าขอโทษเมื่อเขาทำผิด ไม่ได้ช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะรู้สึกผิดเลย คำขอโทษที่ได้นอกจากจะไม่ได้ออกมาจากใจแล้ว ยังกลับทำให้เขายิ่งโมโหฉุนเฉียวมากขึ้นด้วย เด็ก ๆ ควรได้เรียนรู้การพูดขอโทษด้วยการเป็นฝ่ายได้รับคำขอโทษมากกว่า เขาจะได้เรียนรู้ว่าในสถานการณ์เช่นไรที่อีกฝ่ายควรได้รับคำขอโทษ (เช่นเดียวกับที่เขาเคยได้รับคำขอโทษมาแล้วในเหตุการณ์แบบเดียวกัน) เพราะฉะนั้น จงทำให้เขาดูเป็นตัวอย่างว่า เมื่อคุณทำอะไรผิดพลาด และเขาได้เห็นหรือรับรู้ ก็ต้องกล่าวขอโทษลูกน้อยด้วยเช่นกัน
การสอนลูกให้เรียนรู้ที่จะสงบสติอารมณ์และควบคุมตัวเองให้ได้นั้น อาจไม่ได้ผลหรือเห็นความเปลี่ยนแปลงแค่ในชั่วข้ามคืน แต่มันจะเป็นผลระยะยาว ให้เขาค่อย ๆ ได้ซึมซับและเรียนรู้ไปเองจะดีกว่า เพราะฉะนั้นคุณจึงต้องมีความอดทนที่จะแสดงให้เขาเห็น และย้ำสอนเขาบ่อย ๆ ว่าเขาควรทำเช่นไรเมื่อประสบกับสถานการณ์ที่ไม่พึงใจขึ้นมา