สร้างความตกใจให้เหล่าคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ได้ไม่น้อย เมื่อสังเกตเห็นว่าผิวของเบบี๋คนดีมีลักษณะแปลกตา เป็นตุ่มเล็กๆ ที่ผิวหนัง ตามรูขุมขน ผิวหนังสาก แห้ง ดูคล้ายหนังไก่ หรือเห็นเป็นรอยแดงรอบรูขุมขน ไปจนถึงมีลักษณะคล้ายกับขนขึ้นอยู่ด้านหลังเต็มไปหมด
ว่าแต่มันเกิดอะไรขึ้นกับลูกน้อยกันแน่?
อาการผิดปกติดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับผิวหนังของทารกน้อย ถูกเรียกว่า “โรคขนแปรง” หรือ “โรคขนแปลง” โดยมักเกิดขึ้นกับทารกแรกเกิดไปจนถึง 3 สามเดือน ความที่รอยโรคดูไม่น่ามอง ทำให้เกิดความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคดังกล่าว อาทิ โรคนี้ทําให้เด็กร้องไม่หยุด นอนไม่หลับ นอนผวา ขากระตุก และขนที่อยู่ในตุ่มดําก็มีพิษตำเส้นประสาท บางคนนำฟองน้ำหรือหมากตำละเอียดไปขัดผิวเบบี๋เพราะเชื่อว่าจะทำให้หายได้
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “เด็กขนแปรง”
(ข้อมูลจากแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์)
- ในทางการแพทย์ ไม่มีกลุ่มอาการที่เรียกว่าโรค “ขนแปลง” หรือ “ขนแปรง” คำนี้อาจเป็นศัพท์เฉพาะ หรือภาษาปาก ภาษาถิ่น ที่เข้าใจกันผิดต่อๆ มา
- ทารกที่มีอาการดังกล่าวน่าจะป่วยด้วยโรคขนคุด (Keratosis pilaris) หรือ Eruptive Villus Hair Cyst ที่มีลักษณะคล้ายขนคุด แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า ถ้ามีคนในครอบครัวเคยเป็น จะวินิจฉัยได้มากขึ้น โดยปกติจะไม่ทำให้เจ็บผิวหนัง และสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา หรืออาจรักษาได้ด้วยการใช้ยากลุ่ม urea
- ในกรณีที่เด็กมีอาการเจ็บผิว อาจเป็นไปได้ว่าเป็น Folliculitis หรือรูขุมขนอักเสบในเด็ก ซึ่งเด็กจะเจ็บผิว เพราะมีอาการอักเสบ ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้ทราบเชื้อโรค และทำการรักษาอย่างเหมาะสม
- การขัดผิว ไม่ว่าจะด้วยฟองน้ำ ใยขัดผิว หรือหมากตำละเอียด ไม่ใช่วิธีการรักษา แต่จะยิ่งทำให้ผิวอักเสบ ติดเชื้อ และทำให้เด็กยิ่งทรมาน และขนดังกล่าวไม่ใช่ “ขนพิษ” อย่างที่บางคนเข้าใจ
- อาการขากระตุก หรือนอนผวา เป็นกลไกทางระบบประสาทอัตโนมัติของเด็กทารก ซึ่งเป็นอาการปกติ ถ้ามีอะไรมากระตุ้นเพียงเล็กน้อย ก็ทำให้ผวา ตกใจได้ เช่น อากาศเย็นเกินไป ร้อนเกินไป เสียงดังเกินไป หรือเป็นอาการปกติธรรมชาติของเด็กทารกช่วง 3 เดือนแรกที่เรียกว่า โคลิค เมื่อโตขึ้นก็จะหายไปเอง
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ สังเกตเห็นเบบี๋มีลักษณะขนที่ขึ้นแบบแปลกๆ หรือผิวหนังมีลักษณะผิดปกติ ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง พร้อมรักษาอาการให้หายได้โดยเร็วค่ะ