รวมวิธีรับมือเมื่อเบบี๋มีอาการเด็กร้องไห้ 3 เดือน

0

การร้องไห้ของทารกถือเป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสารของเด็ก โดยการร้องไห้ของเบบี๋แต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไป และเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการในการเติบโตของเด็ก บางคนร้องไห้น้อย บางคนร้องไห้เป็นเวลานาน ทั้งนี้ พ่อแม่ควรใส่ใจถึงลักษณะการร้องไห้บางลักษณะที่น่าเป็นกังวล เพราะอาจมีสิ่งผิดปกติอื่นซ่อนอยู่!

 

ร้อง

 

อาการเด็กร้องไห้ 3 เดือน หรือ อาการโคลิก (Colic) พบได้ในเด็กวัยทารกตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังคลอดจนถึงอายุประมาณ 3 เดือน ในเด็กบางรายอาจมีอาการร้องต่อเนื่องไปจนถึง 4-5 เดือน ลักษณะอาการเด็กจะร้องไห้เสียงดังแสดงอาการเจ็บปวด เช่น เกร็งจิกปลายเท้า กำมือแน่น มักจะร้องเวลาใกล้เคียงกันทุกวัน ครั้งละประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ช่วงเวลาที่ไม่มีอาการ เด็กจะดูดนม นอนหลับ ขับถ่าย และเคลื่อนไหวได้ตามปกติ น้ำหนักตัวขึ้นตามปกติ

 

สาเหตุที่ทำให้เด็กมีอาการโคลิกนั้น บ้างเชื่อว่าเกิดขึ้นเนื่องจากการปรับการทำงานของร่างกายยังไม่คงที่ในเด็กทารก ทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายตัว บ้างเชื่อว่าเด็กรู้สึกไม่สบายตัวจากการทำงานของระบบย่อยอาหาร บ้างเชื่อว่าเด็กนอนไม่สบาย ท่านอนไม่เหมาะสม แต่จริง ๆ แล้วก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง โดยทั่วไปแล้วอาการนี้ไม่เป็นอันตราย เบบี๋จะสามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ และอาการจะหายไปเองหลัง3 เดือน

 

คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกแล้วมีอาการร้องไห้ 3 เดือน ควรปฏิบัติ ดังนี้

  1. เวลาลูกร้องไห้ ให้อุ้มพาดบ่า ให้ส่วนท้องพาดบนหัวไหล่ ลูบหลัง เขย่าเบา ๆ เป็นจังหวะ เพื่อให้ทารกน้อยสงบลง
  2. เบี่ยงเบนความสนใจของเบบี๋ เช่น ใช้ของเล่นที่มีเสียงเขย่าช่วย ทารกน้อยจะรู้สึกสบายขึ้น
  3. เปลี่ยนท่าทางขณะให้นม เบบี๋อาจร้องไห้ขณะดูดนมหรือหลังอิ่ม เนื่องจากการอุ้มในลักษณะที่ทำให้เด็กไม่สบายตัว
  4. ให้ทารกดื่มนมแม่เท่านั้น เด็กที่ไม่ได้ดื่มนมแม่ ควรเลือกชนิดของนมที่เกิดอาการแพ้ได้น้อยที่สุด
  5. ร้องเพลงหรือฮัมเพลงเบา ๆ คลอไประหว่างการปลอบให้เด็กหยุดร้อง เนื่องจากทารกมักคุ้นเคยและชอบเสียงของแม่
  6. ให้เบบี๋อยู่ในห้องที่สงบ ไม่มีแสงสีรบกวน
  7. พ่อแม่ควรแบ่งเวลาช่วยกันอุ้มลูก หรือให้คนอื่นช่วยดูแลเบบี๋ เพื่อไม่ให้รู้สึกเครียดมากจนเกินไป

 

อย่างไรก็ตาม ควรรีบไปปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเมื่อเกิดสถานการณ์ดังนี้

  1. เด็กร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานานไม่ยอมหยุด
  2. เด็กไม่ยอมดื่มนมตามปกติ หรือดื่มได้น้อยลงเกินครึ่งหนึ่งของปกติ
  3. เด็กไม่ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
  4. เด็กร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานาน มีไข้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก อุจจาระผิดปกติ ผิวคล้ำหรือซีด
  5. คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถปลอบให้เด็กสงบลงได้จนเริ่มมีความรู้สึกในแง่ลบต่อลูก
  6. ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวแย่ลงจากการที่ลูกร้องไห้

 

สิ่งสำคัญของพ่อแม่ในการปลอบเจ้าตัวน้อยให้หยุดร้อง คือ ต้องเรียนรู้ว่าวิธีไหนที่ใช้ได้ผลมากที่สุดและใช้ได้ในสถานการณ์ใดบ้าง เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *