ตาเข-ตาเหล่ในเด็ก รู้ก่อนรักษาหายได้ ปล่อยไว้อาจตามัวถาวร

0

ตาเหล่ หรือ ตาเข เป็นภาวะที่ผู้ป่วยจะมีอาการตาไม่อยู่ในแนวตรงตามธรรมชาติ สามารถสังเกตได้ตั้งแต่เด็กอายุ 4 เดือนขึ้นไป ที่น่ากังวล คือ หลายคนมีความเชื่อที่ผิดอยู่ว่าโรคตาเหล่หรือโรคตาเขเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษา ไม่สามารถทำอะไรได้ หรือเข้าใจว่าเมื่อเด็กโตอาการเหล่านี้จะหายไปเอง ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด

 

ตาเด็ก

 

โรคตาเหล่ ตาเข คือ ภาวะที่การมองของตาทั้งสองข้างไม่ได้อยู่ในทิศทางเดียวกันและทำงานไม่ประสานกัน ผู้ป่วยจะใช้เพียงตาข้างที่ปกติจ้องมองวัตถุ  ส่วนตาข้างที่เหล่อาจจะเบนเข้าด้านในหรือด้านนอก ขึ้นบนหรือลงล่างก็ได้ แนะนำว่าในเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 1 – 3½ ปี ควรได้รับการตรวจตา หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นตาเข ตาเหล่ หรือผู้ปกครองเห็นว่าบุตรหลานมีภาวะตาเข ตาเหล่ ควรรีบนำมาพบจักษุแพทย์

 

หลายคนเข้าใจว่าโรคตาเหล่ ตาเขในเด็กสามารถหายได้เองเมื่อเด็กโตขึ้นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะภาวะดังกล่าวอาจไม่สามารถหายได้เอง ในรายที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในระยะเวลาที่เหมาะสม อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการมองเห็นอย่างถาวร พัฒนาการในการมองเห็นเกิดภาวะตาขี้เกียจได้ ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมในการมองเห็นของบุตรหลาน หรือพาไปตรวจเช็กสายตากับจักษุแพทย์ก่อนวัยเข้าเรียนจะช่วยป้องกันปัญหาได้

 

ภาวะตาเข ตาเหล่อาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น เกิดจากพันธุกรรม ความผิดปกติของสายตา กล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต ประสบอุบัติเหตุ เนื้องอก ต้อกระจกหรือภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้การมองเห็นเสียไป วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดและสาเหตุของโรค ตาเหล่บางชนิดสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด บางชนิดรักษาโดยการผ่าตัดเท่านั้น หรืออาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ดังนี้

 

  1. การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยใช้แว่นสายตา ในผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากสายตาผิดปกติ เช่น สายตายาวที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดตาเหล่เข้า การฝึกกล้ามเนื้อตาการรักษาด้วยยาฉีดที่กล้ามเนื้อตา นอกจากนี้ ตาเหล่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะตาขี้เกียจในเด็กได้ ซึ่งหากตรวจพบต้องรีบรักษาทันที ก่อนที่จะผ่าตัดแก้ไขตาเหล่ หากเด็กอายุมากกว่า 10 ปี ผลการรักษาอาจมีประสิทธิผลลดลง อาจส่งผลให้ตาข้างนั้นมัวอย่างถาวรได้

 

  1. การรักษาโดยการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาทำให้ตาตรง เป็นผลดีต่อการทำงานของตา ช่วยทำให้การมองเห็นมีประสิทธิภาพดีขึ้น และส่งผลดีต่อพัฒนาการและบุคลิกภาพของเด็กด้วย โดยการผ่าตัดจะมีหลายเทคนิคขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณาตามความเหมาะสม ทำได้ตั้งแต่เด็กอายุ 2 ขึ้นไป และหลังจากผ่าตัดเสร็จ ตาของเด็กก็จะกลับมาตรงทันที แต่อาจจะมีตาแดงเล็กน้อย และใช้เวลาในการพักฟื้นดวงตาประมาณ 1 อาทิตย์ ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ

 

อย่างไรก็ตาม การดูแลหลังผ่าตัดมีความสำคัญ ในช่วงสัปดาห์แรกควรหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำเข้าตา เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้ และควรหมั่นพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจดูอาการอย่างต่อเนื่อง

 

ย้ำกันอีกครั้งว่า อย่านิ่งนอนใจ หากพบความผิดปกติหรือสงสัยว่าเบบี๋มีอาการตาเหล่ ตาเข ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะตาเหล่ ตาเขหายเองไม่ได้ แต่รักษาให้หายได้ หากพบตั้งแต่เนิ่น ๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *