“สูดสำลักขี้เทา” อาการผิดปกติที่อาจทำให้เบบี๋ถึงตาย!

0

ขี้เทา

หลายคนอาจยังไม่รู้จักค่ะ แต่คืออุจจาระของทารกในครรภ์ มีลักษณะเหนียว สีเขียวจนดำ ทารกสามารถถ่ายขี้เทาออกมาทั้งขณะอยู่ในครรภ์มารดา ขณะใกล้คลอดหรือหลังคลอดประมาณ 18-24 ชม.

ดังนั้น ในน้ำคร่ำจึงสามารถพบขี้เทาปนอยู่ได้ และอาจทำให้เบบี๋สูดสำลักขี้เทาเข้าไป ทำให้ขาดออกซิเจน และมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตได้!!

โดยปกติทารกจะเริ่มสร้างขี้เทาหรืออุจจาระออกมาในลำไส้ใหญ่อยู่แล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ขี้เทาจะมีลักษณะ เหนียว สีเขียวจนเกือบดำ มีตั้งแต่ไขของตัวเด็กเอง ขนอ่อนๆ ของเด็ก น้ำคร่ำ ปนอยู่ด้วยกัน ถ้าอยู่ในท้องแม่แล้วไม่มีปัญหาระหว่างตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะไม่มีการถ่ายขี้เทาขณะอยู่ในครรภ์ แต่ถ้ามีปัญหาอาจทำให้ถ่ายออกมาปนอยู่ในน้ำคร่ำ อาจทำให้เบบี๋สูดสำลักขี้เทาเข้าไปได้ นำไปสู่ภาวะปอดอักเสบ หายใจผิดปกติ

%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%b2

การที่เด็กทารกในครรภ์ถ่ายขี้เทาออกมาก่อนกำหนด ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงทารก อาจจะเกิดจากคุณแม่มีโรคประจำตัว หรือสาเหตุอื่นๆ ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกผ่านสายสะดือแม่น้อยลงแล้วก็จะมีปฏิกิริยาทางระบบประสาทกระตุ้นทำให้เด็กมีการถ่ายขี้เทาออกมา ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้มีหลายสาเหตุ เช่น แม่เป็นเบาหวาน โรคหัวใจ ครรภ์เป็นพิษ น้ำคร่ำน้อย คลอดเกินกำหนด ผ่าคลอด

การสำลักขี้เทาพบได้ในเด็กใกล้คลอด หรือเกินกำหนด เมื่อทาระมีอายุครรภ์มาก สภาพเลือด หลอดเลือดที่ไปเลี้ยง หรือแม้กระทั่งสภาพของรกของตัวแม่เองจะเสื่อมสภาพไปด้วย จึงส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด ทำให้เบบี๋หายใจเหนื่อยหอบ หายใจไม่สะดวก มีลักษณะเหมือนปอดอักเสบ เพราะขี้เทาเหนียวมาก มีโอกาสอุดตันทางเดินหายใจ ทำให้ปอดโป่งพองออก และมีการอักเสบของเนื้อเยื่อ อาจทำให้ขาดออกซิเจน และมีโอกาสเสี่ยงให้เสียชีวิต

คำถามที่คุณพ่อคุณแม่อยากรู้ คือ แพทย์สามารถที่จะวินิจฉัยภาวะสำลักขี้เทาล่วงหน้าได้หรือไม่? คำตอบคือไม่ได้ เพราะการที่จะไปเจาะถุงน้ำ ถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดการคลอดอย่างหนึ่ง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ฉะนั้น คุณหมอจะพบว่าทารกอาจสำลักขี้เทาก็เมื่อน้ำคร่ำเดินแล้ว โดยสังเกตจากลักษณะน้ำคร่ำเหมือนมีขี้เทาปน เมื่อทราบว่ามีขี้เทาออกมาแล้ว จะเริ่มช่วยเหลือและรักษาเบบี๋ตามขั้นตอนต่อไป

นอกจากดูแลสุขภาพให้แข็งแรงแล้ว คุณแม่ควรฝากครรภ์ และตรวจครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ คุณหมอจะได้ดูแลอย่างใกล้ชิด และตรวจสอบความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *