ส่องพฤติกรรมของพ่อแม่ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเบบี๋

0

ช่วงแรกเกิด-5 ปี เป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งในการเสริมสร้าง หล่อหลอมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ต่าง ๆ เนื่องจากสมองของเด็กวัยนี้มีการเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งขนาดและจำนวน รวมทั้งมีการพัฒนาของการสื่อประสาทที่รวดเร็ว จึงถือเป็นช่วงเวลาทองของการดูแลปลูกฝังเด็กในด้านต่าง ๆ

ความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว (Emotional Quotient) คือ ความสามารถที่จะรู้จัก เข้าใจ และควบคุมอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสมตามวัย สามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยอีคิว ประกอบด้วยด้านย่อย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านดี ด้านเก่ง และด้านสุข

ช่วงปฐมวัยคือช่วงเวลาแห่งรากฐานของการพัฒนาทั้งปวง เป็นช่วงวัยที่พัฒนาการด้านสมองและการเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุดในชีวิต การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในเด็กปฐมวัยเป็นสิ่งที่เสริมสร้างให้เกิดกับเด็กได้ และมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเด็กที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ดี จะสามารถควบคุมและจัดการอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ รวมทั้งสามารถใช้สติปัญญาได้อย่างเต็มที่ และเติบโตเป็นคนดี มีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต นอกจากนี้ ยังเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพจิตและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็ก และยังช่วยป้องกันการใช้ความรุนแรงในสังคมอีกด้วย

ปัญหาพฤติกรรม-อารมณ์ของเด็กปฐมวัย มีผลกระทบต่อความฉลาดทางอารมณ์ของเด็ก แม้ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากสิ่งที่ติดตัวเด็กมา แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญเกิดจากสภาพแวดล้อมและการอบรมเลี้ยงดู พฤติกรรมการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่มีผลต่อพฤติกรรมของลูก (เด็กอายุแรกเกิด – 2 ปี) ดังนี้

พฤติกรรมของพ่อแม่ : ทิ้งให้ลูกอยู่คนเดียว ไม่แสดงความรัก ไม่ปฏิสัมพันธ์กับลูก เช่น ไม่พูดคุย ไม่โอบกอด ไม่สนใจเวลาลูกร้องไห้ พ่อแม่ลงโทษลูกรุนแรง ตะคอก ดุเสียงดัง

พฤติกรรมของลูกที่เกิดขึ้น : โยเย งอแง ร้องไห้ ไม่มีเหตุผล ไม่สนใจสิ่งรอบตัว เด็กตกใจกลัว ร้องไห้

ผลที่เกิดกับลูกในอนาคต : 

วัย 3 – 5 ปี : รอคอยไม่เป็น ไม่รู้จักอารมณ์ตนเอง ตกใจง่าย วิตกกังวล ไม่กล้าแสดงออก ขาดความมั่นใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ทำให้ขาดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

วัยเรียน : ไม่ไว้ใจ ไม่สนใจความรู้สึกผู้อื่น หนีเรียน รู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า ดื้อ ต่อต้านผู้ใหญ่ ต่อต้านกฎเกณฑ์ เลียนแบบการใช้พฤติกรรมก้าวร้าว โดยใช้เสียงดังกับคนอื่น เข้ากับผู้อื่นได้ยาก

วัยรุ่น : ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ หนีเรียน มั่วสุม ติดยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์กันวัยอันควร มีแนวโน้มที่จะทำผิดกฎหมายและมีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ยับยั้งชั่งใจ เปลี่ยนคู่นอน/ แฟน เสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตเวช

วัยผู้ใหญ่ : อารมณ์ไม่มั่นคง มีปัญหาสัมพันธภาพกับผู้อื่น ปรับตัวไม่ได้ รู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง ไม่ไว้วางใจผู้อื่น อารมณ์ไม่มั่นคง หย่าร้าง เสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตเวช

ไม่อยากให้เบบี๋สุดเลิฟมีพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ตั้งแต่เล็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญกับการอบรมเลี้ยงดูลูกน้อย อย่าลืมว่าพฤติกรรมของคุณส่งผลโดยตรงต่อเจ้าตัวเล็กนะคะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *