กลายเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในยุคนี้เสียแล้ว กับการเผยแพร่คลิปการทะเลาะวิวาทกันตามสื่อโซเชี่ยล ที่น่าตกใจคือ หลายครั้งประเด็นที่ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทใหญ่โตเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่กลับลุกลามเพราะไม่สามารถควบคุมความโกรธได้ ฉะนั้น การจัดการอารมณ์โกรธจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม
ข้อมูลจาก นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า
อารมณ์โกรธเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในคนทั่วไป มักจะเกิดขึ้นเมื่อเราตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ เช่น ถูกตำหนิ ถูกโกง ถูกขับรถปาดหน้า หากไม่สามารถควบคุมได้ จะกลายเป็นพลังทำลาย ทำอะไรหุนหันพลันแล่น ตัดสินใจผิดพลาดง่าย นำไปสู่ปัญหาต่างๆ ทั้งความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ปัญหาที่ทำงาน ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ความโกรธจะนำไปสู่การเพิ่มความเครียด ส่วนความเครียดก็มักทำให้มีความโกรธเพิ่มมากขึ้น และอาจมีผลกระทบทางกาย โดยขณะที่เราเกิดอารมณ์โกรธ ต่อมแอดรีนัลของร่างกาย จะขับสารคัดหลั่งชื่อแอดรีนาลินออกมาสู่กระแสโลหิต กระตุ้นประสาทอัตโนมัติทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น หากเกิดในผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง อาจทำให้เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ด้วยเช่นกัน
วิธีฝึกการติดเบรค
เพื่อควบคุมอารมณ์และจัดการกับความโกรธของตัวเองให้ได้ ป้องกันไม่ให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ มีดังนี้
- มองและคิดไปให้ไกลถามตัวเองว่าเรื่องที่โกรธอยู่นี้สำคัญต่อตัวเราเองมากน้อยแค่ไหน
- ให้ถามตัวเองว่า ถ้าเราตอบโต้อะไรลงไปทันทีตามความโกรธ จะเกิดอะไรขึ้น “ได้แค่สะใจชั่วคราวแต่ต้องเสียใจเสียชื่อไปตลอดชีวิตหรือไม่”
- ให้ลองถามตัวเองว่า เราได้เคยทำสิ่งเดียวกับที่คนอื่นทำกับเราในวันนี้หรือไม่ และเราเองก็ไม่รู้ตัวว่าทำให้คนอื่นโกรธเช่นกัน
- ลองถามตัวเองว่า เพราะเหตุใดคนอื่น จึงทำเช่นนี้กับเรา ให้ลองคิดแบบมีเหตุมีผลว่าเขาอาจมีความจำเป็นจึงทำเช่นนั้น การถามตัวเอง จะช่วยประวิงเวลา ทบทวนตัวเอง ทำให้ใจเย็นลง ตั้งสติได้ ไม่หุนหันพลันแล่น และมองเห็นปัญหานั้นเล็กลง ผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้จากการถามใจตัวเอง คือการให้อภัย การปล่อยวาง และทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี
สำหรับครอบครัวที่มีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจกันบ่อยครั้ง หรือมักจะทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยๆ อย่าลืมลองนำวิธีฝึกการติดเบรคความโกรธไปใช้ดูนะคะ