พ่อแม่ส่วนใหญ่มักรู้สึกภาคภูมิใจเมื่อลูกหลานสอบได้ผลคะแนนที่ดี เพราะมองว่าการเรียนหนังสือเก่งย่อมเป็นผลดีต่อหน้าที่การงานในอนาคตของลูก ส่วนบ้านไหนที่มีลูก “เรียนหนังสือไม่เก่ง” ก็มักเกิดความไม่สบายใจ และเกิดคำถามในใจที่พ่อแม่ผู้ปกครองอยากรู้ว่า
ลูกเรียนหนังสือไม่เก่ง เป็นเพราะอะไรกันนะ?
สาเหตุของปัญหาการเรียนของเด็กเรียนหนังสือไม่เก่ง
บางครั้งประกอบด้วยหลายด้าน เช่น
- สาเหตุทางด้านร่างกาย เช่น เจ็บป่วยเรื้อรัง มีปัญหาทางด้านสายตา, มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินเสียง
- เชาวน์ปัญญา (IQ) ในเด็กที่มีเชาวน์ปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ อาจทำให้การเรียนรู้ช้าและเรียนได้ไม่ดี
- โรคทางจิตเวชที่ส่งผลต่อการเรียน เช่น โรคสมาธิสั้น (ADHD), โรคความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD)
- ความสนใจหรือกิจกรรมนอกห้องเรียน ซึ่งถ้ามีมากเกินไปอาจดึงให้เด็กไปสนใจเรื่องเหล่านั้นมากกว่า เช่น การเล่นเกมส์, กิจกรรมของโรงเรียนอื่นๆ ทำให้ความสนใจในการเรียนน้อยลง
- แรงจูงใจของเด็กในการเรียนหนังสือ ซึ่งเด็กบางคนขาดแรงจูงใจ โดยสาเหตุอาจจะเกิดจากปัญหาทางด้านอารมณ์ เช่น มีความเครียด ความกังวล หรือซึมเศร้า ทำให้แรงจูงใจต่ำ หรือเกิดจากปัจจัยทางด้านการเลี้ยงดู เช่น พ่อแม่เลี้ยงอย่างตามใจมากและทางบ้านมีฐานะดี ก็อาจขาดแรงจูงใจในการเรียน
ดังนั้น ในเด็กที่มีปัญหาการเรียน จำเป็นจะต้องประเมินถึงสาเหตุต่างๆ และช่วยเหลือแก้ไขไปตามสาเหตุเหล่านั้น โดยการประเมิน I.Q. มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินเชาวน์ปัญญาของเด็กว่ามีผลกระทบต่อการเรียนหรือไม่
ซึ่งโดยทั่วไปจะทำในเด็กที่สงสัยว่ามีความบกพร่องทางเชาว์ปัญญา การทดสอบนี้มีประโยชน์ คือ…
- ให้รู้พื้นเชาวน์ปัญญา (baseline) ของเด็ก ว่าอยู่ในระดับใด
- เพื่อกำหนดความคาดหวังได้อย่างเหมาะสม เพราะเด็กที่มี I.Q. ค่อนข้างต่ำ แต่ผู้ปกครองมีความคาดหวังสูง จะทำให้เด็กเกิดความเครียด เพราะไม่สามารถทำให้ถึงมาตรฐานของผู้ปกครองได้
- อาจทำให้เห็นจุดเด่นบางประการของเด็ก เพื่อนำมาพัฒนาและส่งเสริมในเรื่องที่เด็กสามารถทำได้ดี
ในปัจจุบันมีการกล่าวถึง “พหุปัญญา” (Multiple Intelligence) ซึ่งมองความสามารถของมนุษย์ในหลายๆ ด้าน นอกเหนือจากความสามารถด้านการเรียน
เช่น ด้านดนตรี, การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือมนุษยสัมพันธ์ เช่น EQ คือ เด็กที่ฉลาดในการดูแลสุขภาพจิต ไม่เครียดมาก มั่นใจในตนเองดี แม้ว่าไม่ได้เก่งหรือเด่นกว่าใคร หรือหากมีความสามารถด้านการเคลื่อนไหวดี ก็เหมาะที่จะเป็นนักกีฬา แสดงนาฏศิลป์ ฯลฯ
เด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนไม่ดี มักดูเป็นเด็กมีปัญหา แต่หากผู้ปกครองมองเห็นจุดเด่นหรือพรสวรรค์ในด้านอื่นๆ และพยายามส่งเสริมตามกับสิ่งที่เด็กมี จะทำให้เด็กเกิดความภูมิใจในตนเองได้ค่ะ