“ท็อกโซพลาสโมซิส” โรคสุดเสี่ยงของแม่ท้องทาสแมว

0

แมว ถือเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงยอดนิยมของคนทั่วโลก เรียกว่าความน่ารักของน้องเหมียวทำให้หลายคนตกเป็นทาสแมวไปตาม ๆ กัน อดไม่ได้ที่ต้องกอดต้องฟัดด้วยความเอ็นดู อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยห่างไกลโรค คุณแม่ท้องควรต้องระมัดระวังในการเลี้ยงแมวเป็นพิเศษ เพราะอาจเสี่ยงโรคท็อกโซพลาสโมซิสได้

99

 

โรคท็อกโซพลาสโสซิส หรือ โรคขี้แมว () เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวที่ชื่อว่า Toxoplasma gondii เชื้อนี้มีวงจรชีวิตที่สามารถเจริญเติบโตได้ในสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิด แต่แมวจัดเป็นโฮสต์แท้ของเชื้อชนิดนี้ โดยเชื้อจะอาศัยทางเดินอาหารของแมวในการเจริญเติบโตจนสมบูรณ์และปล่อยไข่ ปนออกมากับอุจจาระของแมว

 

สำหรับแมวกลุ่มที่เสี่ยงต่อการมีเชื้อนี้ คือ แมวที่เลี้ยงระบบเปิด และไปกินสัตว์อื่น เช่น หนู นก หรือแมวกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก แต่หากเป็นแมวที่เลี้ยงระบบปิด และไม่กินเนื้อดิบหรือกินหนู นก โอกาสพบเชื้อค่อนข้างน้อยมาก สำหรับการติดต่อสู่คนของเชื้อนี้มีได้ 3 ทาง คือ การกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีไข่ที่เจริญเต็มที่แล้วปนเปื้อนอยู่, การกินถุงซีสต์ของพยาธิที่อยู่ในเนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงไม่สุกที่มีเชื้อโรคขี้แมวอยู่, ผ่านทางรกไปยังทารกหากแม่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์

 

ช่วงที่อันตรายที่สุดคือการติดเชื้อในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้ลูกเสียชีวิต ตั้งแต่อยู่ในท้อง หรืออาจส่งผลต่อลูกน้อยหลังคลอดออกมาแล้ว 6-7 เดือน เด็กที่ติดเชื้ออาจจะตาบอด ปัญญาอ่อน มีปัญหาด้านการเรียนรู้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อนี้จะต้องมีอาการรุนแรง แม้ทารกบางคนที่ติดเชื้ออาจจะไม่พบอาการผิดปกติก็เป็นได้

 

คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เลี้ยงแมว เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคท็อกโซพลาสโสซิส ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำไม่สะอาด ในส่วนของอาหารควรกินอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ถ้าเป็นผลไม้ก็ควรล้างให้สะอาดและปอกเปลือกก่อนกิน ที่สำคัญต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับกินอาหาร
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสดิน ทราย โดยเฉพาะกระบะทรายของแมว หากจำเป็นจริง ๆ ต้องใส่ถุงมือทุกครั้งที่สัมผัสดินหรือทราย เพราะอาจมีเชื้อโรคขี้แมวปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เมื่อเสร็จภารกิจต้องรีบล้างมือให้สะอาด
  3. เปลี่ยนกระบะทรายแมวทุกวัน และปิดกระบะทรายแมวที่ทิ้งไว้นอกบ้านเสมอ
  4. ควรให้แมวที่เลี้ยงกินอาหารที่สุก สะอาดเพราะแมวจะได้รับเชื้อ มาจากอาหารที่ดิบ และไม่สะอาด
  5. กำหนดพื้นที่เลี้ยงแมวให้ชัดเจน และงดการนำแมวมานอนด้วยเพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อ และลดความเสี่ยงต่อการแพ้ขนแมว ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคภูมิแพ้หรือโรคทางเดินหายใจได้ด้วย
  6. ทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่อยู่ของแมว กรง และชามอาหาร โดยใช้ความร้อนซึ่งสามารถทำลายไข่ของโปรโตซัวได้
  7. 7. ไม่เล่น หรือสัมผัสแมวจรจัด รวมถึงไม่รับแมวจรจัดหรือแมวใหม่มาเลี้ยงขณะตั้งครรภ์
  8. ปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมเพิ่มเติมในช่วงที่ตั้งครรภ์

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณแม่คลอดลูกแล้ว ก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นต่อเนื่องด้วย เพื่อลดโอกาสที่ลูกน้อยจะติดเชื้อ ที่สำคัญ อย่าลืมพาน้องเหมียว รวมถึงสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ในบ้านไปฉีดวัคซีนตามกำหนดด้วยนะคะ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *