วัยซนก็มีหัวใจ… เข้าใจอารมณ์หนูด้วย

0

ลูกช่วงวัยอนุบาลจนถึงประถมต้นจะแสดงออกด้านอารมณ์เด่นชัดขึ้น มีความสนใจในเรื่องต่างๆค่อนข้างสั้น เวลาดีใจ เสียใจ โกรธ หรือกลัว ก็จะแสดงอารมณ์ออกมาเต็มที่  โดยการ กระโดด กอด ตบมือ โวยวาย ร้องไห้เสียงดัง ทุบตี ขว้างปาสิ่งของ ไม่พอใจเมื่อถูกห้าม ฯลฯ แต่เป็นเพียงเพียงชั่วครู่ก็จะหายไป    เรามาทำความเข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกในวัยนี้กันก่อนดีกว่าค่ะ

อารมณ์ด้านบวก

understand the emotions of kids (2)

รัก

เมื่อเด็กรู้สึกมีความสุข จะแสดงออกด้วยการกอด ยิ้ม หัวเราะ อยากอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลหรือสิ่งที่รัก และอาจติดสิ่งของบางอย่าง เช่น ตุ๊กตา หมอน ผ้าห่ม

สนุกสนาน

เกิดจากความสุข การประสบความสำเร็จในกิจกรรมที่ทำ หรือได้รับสิ่งใหม่ๆ เด็กจะแสดงออกด้วยการตบมือ ยิ้ม หัวเราะ กระโดด กอด ฯลฯ

อารมณ์ด้านลบ

understand the emotions of kids (1)

โกรธ

เมื่อถูกขัดใจ ถูกแย่งของเล่น ถูกห้ามไม่ให้ทำพฤติกรรมบางอย่าง เด็กจะแสดงออกด้วยการทุบตี กัด ข่วน หรือแสดงวาจาโกรธเกรี้ยว

กลัว

กลัวถูกทอดทิ้ง กลัวคนแปลกหน้า กลัวความมืด กลัวผี ซึ่งมักจะมาจากจินตนาการของเด็กเอง

อิจฉา

เมื่อมีน้องใหม่ และเด็กไม่เข้าใจ อาจแสดงความโกรธ ก้าวร้าว หรือพฤติกรรมเบี่ยงเบนอื่นๆ เช่น ดูดนิ้ว ปัสสาวะรดที่นอน

เศร้า เสียใจ

เกิดขึ้นเมื่อเด็กรู้สึกสูญเสียสิ่งที่รักหรือสิ่งที่มีความสำคัญ เช่น ของเล่น จึงแสดงออกด้วยอาการที่เศร้าซึม ไม่ยอมเล่น ไม่รับประทานอาหาร หรือรับประทานได้น้อยลง

 

เมื่อเข้าใจสภาวะทางอารมณ์ของลูกแล้ว  คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องรู้จักจัดการกับอารมณ์เหล่านี้ของลูกให้เติบโตไปตามวุฒิภาวะในแต่ละช่วงวัยของลูกอย่างเหมาะสม  เพื่อให้ลูกเกิดความรู้สึกและทัศนคติพื้นฐานที่ดี  และเรียนรู้ที่จะเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมต่อไป ดังนี้ค่ะ

ให้ความรัก

ดูแล เอาใจใส่ ใกล้ชิด แสดงความรักและความเข้าใจ รับฟังและพูดคุยโต้ตอบกับลูก ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน เช่น เล่านิทาน ทำอาหาร เล่นกีฬา ไปเที่ยว

เป็นแบบอย่างที่ดี

เด็กดี เก่ง น่ารัก สร้างได้จากแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่ การเป็นต้นแบบที่ดีของพ่อแม่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะไม่เพียงลูกจะซึมซับและเลียนแบบการกระทำด้วยสิ่งที่รับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ยังรวมถึงแนวคิด ทัศนคติ ความเชื่อ บุคลิกภาพ ท่าทาง นิสัย และอื่นๆจากพ่อแม่ เป็นการเรียนรู้แบบทำซ้ำบ่อยๆ รับรู้และเชื่อมโยงจนหล่อหลอมเป็นพฤติกรรมต่อไป

เสริมสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง

ควรสอนให้ลูกทำในสิ่งที่ดี ฝึกลูกรักการทำดี เสียสละ มีน้ำใจ ช่วยเหลือแบ่งปันผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่เห็นแก่ตัว

ตอบสนองต่อพฤติกรรมที่ถูกต้อง

การตอบสนองต่อพฤติกรรมที่ดีของลูก จะทำให้ลูกรับรู้ว่า การกระทำนั้นๆ เป็นสิ่งที่ดีและควรทำต่อไป พ่อแม่ควรสังเกตว่าลูกมีความรู้สึกต่อตนเองอย่างไร รีบแก้ไขหากลูกมีความรู้สึกต่อตัวเองที่ผิดๆ ควรชื่นชมให้กำลังใจลูกอย่างสร้างสรรค์ หากลูกได้พยายามและทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม

สร้างวินัยให้ลูก

คำว่า “วินัย” หมายถึง การจัดระบบระเบียบชีวิตและการจัดระบบสังคมทั้งหมด ทำให้ชีวิตและสังคมมีระบบระเบียบ ทำอะไรได้คล่อง ดำเนินชีวิตและดำเนินกิจการได้สะดวกขึ้น พ่อแม่จึงควรฝึกวินัยให้ลูกตั้งแต่เป็นเด็ก ด้วยการฝึกกิจวัตรประจำวันให้ตรงเวลาและสม่ำเสมอ ฝึกให้ลูกเรียนรู้ขอบเขตของตนเอง ให้รู้ว่าสิ่งใดทำได้และสิ่งใดทำไม่ได้ ฝึกให้รู้จักควบคุมอารมณ์ ฝึกให้รู้จักผ่อนคลายความ เครียด และหาทางออกที่เหมาะสม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *