ทริคการเลี้ยงลูกให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง

0

เพราะการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนในวัยเด็ก ส่งผลต่อความคิดและทัศนคติเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ฉะนั้นพ่อแม่ที่มีลูกน้อยวัยซนจึงต้องใส่ใจในเรื่องการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเจ้าตัวเล็กเป็นอย่างยิ่ง ในส่วนของการสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองนั้น เจ้าตัวซนของคุณก็สามารถมีความรู้สึกนี้ได้ จากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ค่ะ

พญ.ถิรพร ตั้งจิตติพร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า…

ช่วง 3 ปีแรกของชีวิตเป็นช่วงเวลาที่เด็กอยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่มากที่สุด ซึ่งช่วงวัยนี้เด็กจะมีวิวัฒนาการและการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา โดยเริ่มมีการทำสิ่งต่างๆ เป็นผลสำเร็จเป็นครั้งแรก และจะเริ่มเรียนรู้ถึงที่เกิดจากพฤติกรรมว่าเป็นอย่างไร

ดังนั้น ช่วงนี้หากพ่อแม่เปิดโอกาสให้เด็กได้ช่วยเหลือตนเอง ลองผิดลองถูกในการแก้ปัญหา และชมเชยให้ลูกรู้ว่าสิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งที่ดี จะยิ่งเพิ่มความสามารถและความภาคภูมิใจให้กับลูกได้ แต่จุดอ่อนที่แพทย์มักพบบ่อยๆ คือ การไม่ให้โอกาสแก่ลูกได้ช่วยเหลือตนเอง และไม่ค่อยได้ชื่นชมลูกจะคอยแต่ตำหนิติเตียน หรือเรียกว่าการจับผิดมากกว่าจับถูก ทำให้เด็กไม่มีการพัฒนาความมั่นใจในตนเอง

trick-to-raise-children-to-be-proud-of-themselves

การสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกควรอยู่ในอัตราส่วน คำชม 5 ครั้งต่อการดุ 1 ครั้ง คือ พ่อแม่ต้องคอยมองว่า ลูกสามารถทำสิ่งที่พ่อแม่ชอบได้ เมื่อทำถูกต้องก็ต้องชมลูกเพื่อทำให้ลูกสุขใจและเรียนรู้ที่จะทำพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ ซึ่งต้องประกอบด้วย 3 หลัก คือ

  1. ชมถึงพฤติกรรม
  2. พฤติกรรมนั้นเรียกว่าคุณสมบัติอะไร
  3. ความรู้สึกของพ่อแม่ เช่น “ลูกเก่งมากที่ทำการบ้านเสร็จ หนูเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบ แม่ภูมิใจในตัวหนู”

เด็กๆ ที่พ่อแม่เจาะจงชมที่ตัวพฤติกรรมอันเหมาะสม หรือชื่นชมในความพยายามของลูก จะทำให้เด็กพร้อมเผชิญความท้าทายต่างๆ ในอนาคตได้ดีกว่าเด็กที่พ่อแม่ชมแบบกว้างๆ เช่น ดีจัง เก่งจัง เพราะบางครั้งเด็กทำพฤติกรรมหลายอย่างพร้อมกัน จึงไม่รู้ว่าได้รับคำชมจากการกระทำใดที่ทำแล้วพ่อแม่ชอบ

ดังนั้น การชมโดยเจาะจงที่พฤติกรรมทำให้เด็กๆ รู้ว่าเขามีศักยภาพและความสามารถอย่างไร และการชื่นชมในความพยายามของลูก แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ ก็ทำให้เด็กๆ เรียนรู้ว่าความพยายามเป็นทักษะที่จำเป็นในชีวิต แต่ในขณะเดียวกันการชมลูกด้วยคำพูดปิดท้ายว่า “ที่สุดในโลก” เช่น เก่งที่สุดในโลก หรือ ดีที่สุดในโลก หากพ่อแม่พูดเป็นประจำก็อาจทำให้เด็กหลงคิดว่าตนเองนั้นเก่งและดีที่สุดในโลกจริงๆ จนยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรือคิดเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นเสมอ นำไปสู่ปัญหาด้านการเข้าสังคมในอนาคตได้

ทั้งนี้ การชื่นชมลูกให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเองนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ต้องรู้สึกอย่างนั้นกับลูกจริงๆ ถ้าแกล้งทำลูกก็จะดูออกว่าพ่อแม่ไม่ได้ชื่นชมจริง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *