เด็กนอน “กัดฟัน” ปัญหาไม่เล็กที่ต้องเร่งแก้ไข!

0

หลายครั้งที่เสียงลูกน้อยนอน “กัดฟัน” ทำให้พ่อแม่สะดุ้งตื่นกลางดึก นอกจากการกัดฟันจะนำมาซึ่งเสียงดังรบกวนคนรอบข้างแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้มีอาการดังกล่าว อาทิ ปวดตรงข้อต่อขากรรไกร เสียวฟัน ฟันบิ่นแตก ฟันร้าว หรือกัดลิ้น กัดแก้ม เกิดเป็นแผลในปากบ่อย บอกเลยว่าอันตรายมาก ๆ

การนอนกัดฟัน (Bruxism)

เป็นการขบเคี้ยวฟันที่ไม่ใช่การทำงานตามหน้าที่ที่ถูกต้อง อาจเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ หรืออาจเกิดขึ้นในเวลากลางวันขณะที่มีความเครียด การกัดโดยออกแรงย้ำบ่อย ๆ จะมีผลเสียต่อฟัน ในระยะยาวหากมิได้รับการแก้ไข เพราะโครงสร้างภายนอกของฟันคือผิวเคลือบฟันสีขาวนวล จะถูกทำลายจนสึกกร่อน เมื่อสึกลึกเข้าไปถึงเนื้อฟันชั้นในที่มีสีเหลือง จะเริ่มมีอาการเสียวฟันเมื่อดื่มน้ำเย็น หรือรับประทานอาหาร หรือขณะแปรงฟัน นอกจากนี้อาจทำให้ลูกปวดตรงข้อต่อขากรรไกร ร้าวไปที่ในหูได้

girl sleeping in the bed

ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่อาการนอนกัดฟันของเด็ก

  1. สภาพจิตใจ ที่เกิดจากการความตึงเครียด ความวิตกกังวล เช่น การมีน้องคนใหม่ การสอบ ก็มีส่วนไปกระตุ้นให้เกิดอาการนอนกัดฟันได้
  2. สังเกตทางพันธุกรรม ในครอบครัวที่พ่อหรือแม่นอนกัดฟัน มีเด็กมีพี่หรือน้องนอนกัดฟัน ลูกจึงมีโอกาสสูงที่จะนอนกัดฟันได้เหมือนกัน
  3. เกิดจากร่างกายของเด็กเอง เช่น สมองและระบบประสาทอัตโนมัติถูกกระตุ้นมากเกินจึงทำให้เกิดพฤติกรรมกัดฟัน, มีการสบฟันที่ผิดปกติ, เป็นโรคภูมิแพ้อากาศ, มีพยาธิ
  4. การได้รับยาหรือสารบางอย่างที่ทำให้คุณภาพการนอนไม่ดี เช่น คาเฟอีน (ชา กาแฟ น้ำอัดลม โกโก้ หรือช็อกโกแลต)

การแก้ไขสามารถทำได้โดยหลีกเยงปัจจัยเสี่ยง เช่น ลดความเครียด พาลูกทำกิจกรรมผ่อนคลายก่อนเข้านอน รักษาโรคภูมิแพ้ ถ่ายพยาธิ งดอาหารที่มีคาเฟอีน ให้ลูกดื่มนมอุ่นๆ ก่อนนอนเพื่อให้หลับสบาย ส่วนในรายที่มีการสบฟันผิดปกติอาจแก้ไขโดยการจัดฟัน หรือให้ลูกสวมที่ครอบฟัน (Night Guard) ก่อนนอน

การนอนกัดฟันนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยวัยซน และหมั่นพาไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธีเมื่อมีอาการดังกล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *