เด็กก็เครียดเป็น พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตดูแลจิตใจลูกช่วงน้ำท่วม

0

จากวิกฤติอุทกภัยใน 19 จังหวัดของประเทศไทยนั้น นอกจากส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจอีกด้วย ที่สำคัญเหล่าผู้ใหญ่ในครอบครัวหลายคนอาจไม่ทราบว่า พฤติกรรมของคนในครอบครัวต่อภัยพิบัตินี้ ยังส่งผลให้เด็กน้อยในบ้านเครียดตามไปด้วย

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า…

จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น เด็กๆ อาจได้รับผลกระทบทางจิตใจไปด้วย เนื่องจากการที่ได้เห็นและรับรู้ความทุกข์ความกังวลของผู้ใหญ่ และคนในครอบครัว เด็กๆ อาจสูญเสียสัตว์เลี้ยง หรือของเล่นที่ตนรัก ชีวิตประจำวันตามปกติต้องสะดุดลง เช่น โรงเรียนต้องปิด ต้องอพยพย้ายที่อยู่ รวมไปถึงการที่เห็นคนในครอบครัวและคนที่รู้จักบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ดังนั้น การป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่ดีที่สุดในภาวะเช่นนี้ คือ การเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งเด็กจะเป็นปกติสุขได้ หากพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถปรับตัวจัดการกับปัญหาได้ เด็กๆ มักต้องการพึ่งพาในเรื่องข้อมูลทั่วไป คำปลอบโยน และความช่วยเหลือ โดยปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นของเด็กต่อภาวะน้ำท่วมแตกต่างกันไปตามระดับอายุ พัฒนาการ และประสบการณ์ที่เคยมีมาก่อน พ่อแม่จึงควรรับรู้และสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

the-child-was-stressed-parents-need-to-keep-watch-over-their-children-during-floods

ปฏิกิริยาที่อาจพบในเด็ก เช่น หวาดกลัวเรื่องความปลอดภัย กลัวการแยกจากคนในครอบครัว มีพฤติกรรมติดผู้ใหญ่ อยู่ไม่นิ่งเพิ่มขึ้น สมาธิลดลง หลีกหนีผู้อื่น โกรธ หงุดหงิดง่าย แสดงอารมณ์ก้าวร้าว บ่นเจ็บป่วยไม่สบาย ปวดท้อง ปวดหัว เพ่งความสนใจอยู่กับเรื่องน้ำท่วม เช่น พูดถึงซ้ำๆ แสดงเนื้อหาเรื่องน้ำท่วมในการเล่น ไวต่อสิ่งเตือนใจที่ทำให้นึกถึงน้ำท่วม มีปัญหาการกินการนอน กลับมาปัสสาวะรดที่นอน เป็นต้น

พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรให้เวลาเพื่อพูดคุยกับลูก ทำให้พวกเขารู้ว่าเขาสามารถพูดคุยซักถามและแบ่งปันความกังวลใจที่มีได้ โดยมีผู้ใหญ่ยินดีรับฟัง ควรเปิดโอกาสให้เด็กรับรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัว หรือกับโรงเรียนของเขา หรือ กับชุมชนที่อยู่ และอย่าลืมถามความรู้สึก ความคิดเห็นของเขาบ้าง กรณีเด็กกังวลสงสัยขึ้นมาถามซ้ำๆ ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรกังวลใจหรือเบื่อที่จะตอบ

สำหรับเด็กเล็ก หลังจากคุยกันแล้ว อาจเล่านิทาน หรือเรื่องสนุกๆ หรือทำกิจกรรมสบายๆ ผ่อนคลายร่วมกันในครอบครัว เพื่อทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย ผ่อนคลายและใจสงบได้  ที่สำคัญพ่อแม่ควรแสดงตนเป็นแบบอย่างของการปรับตัวในทางที่ดี มีอารมณ์สงบมั่นคง เพื่อให้เด็กเรียนรู้วิธีจัดการกับปัญหาที่เหมาะสม

แม้จะประสบภัยพิบัติ แต่สมาชิกในครอบครัวก็ต้องดูแลซึ่งกันและกันและไม่ทอดทิ้งกันนะคะ หมั่นสังเกต ใส่ใจการเปลี่ยนแปลงของคนในครอบครัว หากเกิดปัญหาทางจิตใจจะได้พาไปตรวจรักษาได้ทันท่วงทีค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *