แชร์คลิปความรุนแรงถี่ ทำเด็กชินชา เสพติดความรุนแรง

0

กลายเป็นปัญหาสังคมที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสนใจ สำหรับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ผ่านโลกโซเชียล เพราะแม้ข้อดีจะมีนานัปการ แต่ขณะเดียวกันก็อาจนำมาซึ่งความเข้าใจผิด สร้างความขัดแย้ง ความรุนแรง และความตื่นตระหนกให้กับสังคมได้เช่นกัน การจะช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้ ปัจจัยสำคัญคือ ครอบครัว

ความที่การควบคุมกำกับดูแลการเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ในโลกโซเชียลเป็นไปได้ยาก ทำให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงคลิปความรุนแรงหรือโพสต์ต่าง ๆ ที่ชี้นำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย ผลกระทบที่ตามมาจึงมากตามไปด้วย ทั้งนี้ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อพบเห็นบ่อย ๆ ย่อมรู้สึกชินชา มองเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องที่สามารถทำได้

ปัจจุบันพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนในหลายพฤติกรรมสะท้อนให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนไปตามสื่อ เมื่อเห็นความรุนแรง ทะเลาะวิวาท ตบตีชกต่อยกันบ่อยๆ เป็นเรื่องที่สะใจ มีคนเชียร์ มีคนกดไลก์ พฤติกรรมการเลียนแบบและแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงโดยไม่รู้ตัวจึงเกิดขึ้นตามมาได้ เนื่องจากเห็นบ่อย ๆ จนชินชา มีมุมมองว่าเรื่องความรุนแรงเป็นสิ่งดี โก้เก๋ กลายเป็นแฟชั่น เป็นต้น

Video streaming on mobile phone.Vector illustration

ครอบครัวมีส่วนสำคัญมากที่สุดในการลดความรุนแรงในสังคม เพราะพื้นฐานพฤติกรรมของเด็กมาจากครอบครัว ซึ่งครอบครัวอาจกระทำความรุนแรงกับเด็กโดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นคือ ความรุนแรงที่จะส่งผลกระทบกับเด็กในระยะยาว ได้แก่…

ความรุนแรงด้านร่างกาย

เช่น การทะเลาะตบตี การเตะต่อยใช้กำลัง ถ้าเด็กถูกเลี้ยงด้วยความรุนแรง หรือซึมซับความรุนแรงจากพฤติกรรมของคนในครอบครัว โตขึ้นก็จะใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา

ความรุนแรงด้านเพศ

เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ การใช้ความรุนแรงกับเพศหญิง คลิปลามกอนาจาร

ความรุนแรงด้านวาจา

เช่น การตำหนิ ต่อว่า เปรียบเทียบ หรือถูกบ่นตลอดเวลา ตอกย้ำข้อผิดพลาดของเด็ก ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของความดื้อ พฤติกรรมก้าวร้าวของเด็ก เป็นการบ่มเพาะเด็กเกเรในอนาคต

ความรุนแรงทางอารมณ์จากการทอดทิ้ง

กล่าวคือ เด็กที่ถูกละเลย หรือถูกทอดทิ้งจะคิดถึงคนอื่นไม่เป็น ขาดความเมตตา จึงสามารถใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นโดยไม่รู้สึกผิด ปัจจุบันหลายครอบครัวมีการละเลยเด็ก โดยไม่รู้ตัว ขาดการพูดคุย ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างแก้ไขปัญหาของตัวเอง ต่างคนต่างอยู่กับมือถือและโลกโซเชียลของตัวเอง ทำให้ขาดความผูกพันในครอบครัวโดยไม่รู้ตัว นำไปสู่พฤติกรรมรุนแรงเมื่อโตขึ้นได้


 

เพื่อให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีไม่ใช้ความรุนแรง พ่อแม่จึงควรดูแลใส่ใจและปลูกฝั่งสิ่งดี ๆ ให้ลูกอยู่เสมอ โดยเฉพาะการเสพสื่อในโลกโซเชียล ต้องระมัดระวังและมีการคัดกรองให้ลูก โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *