ลูกหลานต้องใส่ใจ “ผู้สูงอายุ” เสียชีวิตจากการหกล้มเพิ่มขึ้น

0

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยในแต่ละปีจะมีผู้สูงอายุ คือ อายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาสำคัญที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้ม ไม่อยากให้ปู่ย่าตายายในบ้านเราเสี่ยงก็ต้องหาวิธีป้องกันค่ะ

จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า…

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554 – 2558) การเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยมากกว่า 800 คนต่อปี หรือประมาณ 3 คนต่อวัน ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดในปี 2558 มีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มสูงถึง 1,049 คน

must-pay-attention-to-the-elderly-died-from-falling

จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 พบว่า ผู้สูงอายุ 1 ใน 3 หรือมากกว่า 3 ล้านคน พลัดตกหกล้มทุกปี ซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 6 แสนคน โดยได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากที่สุด คือ กระดูกข้อมือหัก รองลงมา คือ สะโพกหัก และซี่โครงหัก สถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่หกล้มนอกบริเวณบ้านมากถึงร้อยละ 65 และหกล้มในบ้านร้อยละ 31 สาเหตุเกิดจากลื่น สะดุด หรือก้าวพลาด บนพื้นระดับเดียวกันร้อยละ 60 และร้อยละ 5.80 เกิดจากการตกหรือล้มจากบันได และขั้นบันได

การป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ

โดย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค

  1. ประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีประวัติหกล้มมาก่อน และควรให้ฝึกการทรงตัวและการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  2. กรณีที่ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวและกินยาหลายชนิด ควรจะรู้ผลข้างเคียงของยาที่ใช้
  3. ปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น ควรอยู่บ้านชั้นเดียว กรณีบ้าน 2 ชั้น ควรจัดให้อยู่ชั้นล่าง เก็บบ้านให้เป็นระเบียบ พื้นไม่ลื่น มีราวจับภายในบ้านและห้องน้ำ เป็นต้น
  4. ผู้นำชุมชนและคนในชุมชนควรมีส่วนร่วมในการสำรวจสิ่งแวดล้อมเสี่ยงและปรับปรุงแก้ไขให้ปลอดภัย เช่น พื้นทางเดิน ถนน และสถานที่สาธารณะ เป็นต้น และสนับสนุนกิจกรรมเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้ม เช่น การออกกำลังกายแบบไทเก๊ก โยคะ รำมวยจีน เป็นต้น

กรณีพบเห็นผู้สูงอายุพลัดตกหกล้ม ควรตั้งสติ ทำการประเมินการบาดเจ็บ หากไม่สามารถขยับและลุกเองได้ หรือเมื่อขยับแล้วรู้สึกปวดสะโพก หรือโคนขา ไม่ควรเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันกระดูกที่หักไปทำลายเนื้อเยื่อ หลอดเลือด และเส้นประสาทข้างเคียง ต้องเข้าเฝือกชั่วคราว จากนั้นนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน

ลูกหลานในครอบครัวควรดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด และมีกิจกรรมร่วมกันภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความสุขและลดความเสี่ยงของการพลัดตกหกล้มต่างๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *